ทอ.ลุ้น F-35A ฝ่าด่าน “คองเกรส” จ่ออนุมัติล็อตใหญ่ 3,000 ลำ

ทอ.ลุ้น F-35A ฝ่าด่าน “คองเกรส” จ่ออนุมัติล็อตใหญ่ 3,000 ลำ

"ใครใช้ของเรา เป็นพวกเรา และเขาควรจะดีใจที่เราสนใจ F-35" คำพูด ผบ.ทอ. เปรียบเหมือนสิ่งยืนยันหาก F-35A ผ่านขั้นตอนอนุมัติในสภาฯ "กองทัพอากาศไทย" จะไม่ตกขบวนออเดอร์ล็อตใหญ่ที่สภาคองเกรสเตรียมพิจารณาแน่นอน

หากเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม การันตีไว้กรณีคณะอนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์​ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร​ ตัดงบจัดซื้ออาวุธโดยเฉพาะเครื่องบินรบ F-35 ออกจากงบประมาณประจำปี 2566 เป็นแค่เพียงกลเกมการเมือง ขอให้เหล่าทัพเดินหน้าชี้แจงถึงความจำเป็น และเชื่อว่าขั้นตอนจากนี้จะไร้ซึ่งปัญหา

ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ที่มี นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจารณางบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ทุกหน่วยที่ขอรับงบประมาณในปี 2566 เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย อนุ กมธ.ฯ ได้ปรับลดงบประมาณของเหล่าทัพรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท

“กองทัพบก” ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณในปี 2566 ประมาณ 300 ล้านบาท รายการจัดซื้อรถบัสไฟฟ้า ส่วนอีก 1,700 ล้านบาท เป็นงบประมาณผูกพันงบประมาณที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน อาทิ งบจัดหาเฮลิคอปเตอร์

“กองทัพเรือ” อนุ กมธ.ฯ ได้ปรับลดงบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ในส่วนของการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมการใช้เรือดำน้ำ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดหาเรือดำน้ำยังมีปัญหาในส่วนของเครื่องยนต์

ไฮไลท์สำคัญ “กองทัพอากาศ” อนุ กมธ.ฯ ได้ปรับลดงบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของโครงการจัดหาเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ เนื่องจากกองทัพอากาศยังไม่ได้รับคำยืนยันจากสหรัฐฯ ว่าจะขายให้หรือไม่

ทั้งนี้ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ ทางอนุ กมธ.ฯ จะนำรายงานการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯชุดใหญ่ ซึ่งหน่วยรับงบประมาณที่ถูกปรับลดงบประมาณสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมาธิการฯชุดใหญ่ได้

โดยชัดเจนว่า ทอ.ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ไปแล้ว และยังยืนยันถึงเหตุผลและความจำเป็นในโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท ทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่ใช้งานมากว่า 40 ปี และทยอยปลดประจำการ ซึ่งในอนาคตหากไม่จัดหาจะมีปัญหาในการปกป้องน่านฟ้าด้านทิศตะวันตก

โดย ทอ. ยกเหตุผล แม้ว่า F-35A จะมีราคาสูง แต่หากพิจารณาขีดความสามารถ F-35A จำนวน 1 ลำ ทดแทนเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้จำนวน 3 ลำ เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินแล้ว จะใกล้เคียงกับเครื่องบินที่ปลดประจำการไป และหากจัดหาล่าช้า จะต้องใช้งบประมาณสูงเป็นเท่าตัวเพื่อดำรงสภาพความพร้อมรบ

หากโครงการดังกล่าวผ่านการอมุมัติ เปรียบเสมือนพลังบวก เพราะขณะนี้ ทอ.อยู่ในขั้นตอนดำเนินการขออนุมัติจากสภาคองเกรสสหรัฐ ที่ได้จัดทำหนังสือคำร้องขอเพื่อจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ และการบริการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ (Letter of Request : LOR for P&A) ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐ ในขั้นตอนกระบวนการขอยกเว้นนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของชาติ ENDP (Exception to National Disclosure Policy) คาดว่าได้รับคำตอบ ภายในเดือน ม.ค.2566 นี้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ ทอ.ต้องการริเริ่มจัดซื้อ F-35A ในงบประมาณปี 2566 โดยมองว่าเป็นโอกาสทองที่หากันไม่ได้ง่ายๆ เพราะเป็นช่วงประจวบเหมาะที่มีออเดอร์ล็อตใหญ่จากหลายประเทศสั่งซื้อ F-35 รวมกว่า 3,000 ลำ เนื่องจากราคาที่ถูกลงและปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ 

หากได้รับอนุมัติจะเข้าสภาครองเกรส สหรัฐ พิจารณาไปพร้อมๆ กันทีเดียว แต่หากพลาดก็ต้องไปต่อคิวซื้อใหม่ในอนาคต หรือแม้จะมีเงินซื้อก็อาจเป็นเรื่องยาก

ทอ.ลุ้น F-35A ฝ่าด่าน “คองเกรส” จ่ออนุมัติล็อตใหญ่ 3,000 ลำ

สำหรับประเทศที่เตรียมจัดซื้อ F-35 เข้าประจำการเพิ่มเติม เช่น สหราชอาณาจักร 138 ลำ อิตาลี 90 ลำ เนเธอร์แลนด์ 46 ลำ ออสเตรเลีย 100 ลำ นอร์เวย์ 52 ลำ เดนมาร์ก 27 ลำ แคนาดา 88 ลำ อิสราเอล 50 ลำ ญี่ปุ่น 105 ลำ เกาหลีใต้ 40 ลำ เบลเยี่ยม 34 ลำ โปแลนด์ 32 ลำ สิงคโปร์ 4-12 ลำ ฟินแลนด์ 64 ลำ 

และอีก 3 ประเทศที่อยู่ระหว่างยื่น LOR ประกอบด้วย ทอ.ไทย 2 ลำ ทอ.กรีซ 20 ลำ  ทอ.สาธารณรัฐเช็ก 24 ลำ ในขณะที่ ทอ.โปรตุเกส ทอ.โรมาเนีย มีกำหนดจะซื้อ F-35 ทดแทน F-16 ที่จะปลดประจำการในปี 2030

ขั้นตอนต่อจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่จะพิจารณาว่า จะอนุมัติตามหนังสืออุทธรณ์ ให้ผ่านโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A ตามเหตุผลและความจำเป็นที่ ทอ.ได้ชี้แจงไว้ หรือยึดตามที่อนุ กมธ. เสนอตัดออกจากรายการในงบประมาณประจำปี 2566 นี้

ส่วนข้อกังวลที่ว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่ขายให้ ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ว่า ไทยมีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน หากย้อนไปดูบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“ถ้าไม่รีบทำตอนนี้ ราคาจะขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการหาพวก หาพันธมิตร ใครใช้ของเรา เป็นพวกเรา รวมถึงกลไกตลาด ทำให้ราคาลดลง และเขาควรจะดีใจที่เราสนใจ F-35”

นี่คือสิ่งการันตี หากโครงการจัดหาเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ ผ่านขั้นตอนอนุมัติในสภาฯ กองทัพอากาศไทย จะไม่ตกขบวนออเดอร์ F-35 ล็อตใหญ่ที่สภาคองเกรสเตรียมพิจารณาอย่างแน่นอน