“พปชร.” ระส่ำ บัตรใบเดียว แกนตั้งรัฐบาล 150 เสี่ยงฝันล่ม

“พปชร.” ระส่ำ บัตรใบเดียว แกนตั้งรัฐบาล 150 เสี่ยงฝันล่ม

สถานการณ์ "พลังประชารัฐ" เวลานี้ จึงระส่ำระสายไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะเลือกสูตรบัตรแบบไหน ก็มีปัญหาตามมาทั้งสิ้น

ดูเหมือนจะมีแรงต่อต้านเกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐอยู่ไม่น้อย หลังผู้ใหญ่บางคนแบะท่าจะกลับไปใช้ ระบบเลือกตั้งแบบ “บัตรใบเดียว” อีกครั้ง ทั้งที่รัฐสภาเพิ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนมาเป็น “บัตร 2 ใบ” เมื่อช่วงปลายปี 2564 และยังไม่ได้ใช้งานจริงด้วยซ้ำ ผู้มีอำนาจก็ตั้งท่าจะกลับลำหน้าตาเฉย

ไม่เพียงแต่คนในพลังประชารัฐ ที่ไม่เห็นด้วยกับบัตรใบเดียว แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ดูจะไปแฮปปี้เท่าที่ควร เพราะนอกจากจะตอบสังคมไม่ได้แล้ว ว่าทำไมถึงกลับไปกลับมา ยังอาจถูกวิจารณ์ว่าเล่นแต่เกมการเมืองเพื่อชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้ง จนกระแสอาจตีกลับ

ที่สำคัญ การที่บิ๊กรัฐบาล คนหนึ่งเดินเกมกดดันพรรคร่วม อาศัยความเป็นทหาร ทุบโต๊ะสั่งการกดปุ่มซ้ายหันขวาหันนั้น ลึกๆ ก็สร้างความไม่พอใจให้เป็นอย่างมาก และไม่เห็นด้วยกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของผู้มีอำนาจ เลยต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันยกใหญ่

ไม่ต่างกับ ส.ส.พลังประชารัฐ หลายพื้นที่ มูฟออนมองข้ามช็อตเตรียมการเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้วแต่ก็ดันมีประเด็นให้ต้องหัวเสียกับการหวนคืนเป็นบัตรใบเดียว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย้ำนักย้ำหนาว่า เลือกตั้งครั้งหน้า บัตร 2 ใบจะกวาด ส.ส.ไม่น้อยกว่า 150 ที่นั่ง

ส.ส.โซนเหนือ และอีสาน พลังประชารัฐ รู้ดีว่าขืนกลับไปใช้บัตรใบเดียว มีโอกาสเสียท่าเพื่อไทยค่อนข้างสูง โดยบางพื้นที่ ตัวส.ส.พลังประชารัฐ แม้จะมีฐานเสียงที่เข้มแข็ง แต่กระแสพรรคและ 3 ป. กลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ตรงนี้ก็อาจจะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ทันทีว่าไม่เอาพลังประชารัฐ และหันไปกาเพื่อไทย

ส.ส.จึงมองว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับพลังประชารัฐ คือการใช้บัตร 2 ใบ อย่างน้อย ใบแรกก็ยังพอสู้ได้ในการดึงคะแนนเสียงจากชาวบ้านให้เลือกส.ส.เขต ส่วนบัตรอีกใบ ชาวบ้านจะไปเลือกพรรคอื่น ก็ถือว่าไม่เสียหายมากนัก เพราะถึงอย่างไร ก็ต้องโฟกัสเขตให้ได้เป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้น หากผู้ใหญ่ในพลังประชารัฐ ยังคงดึงดันจะเอาบัตรใบเดียวให้ได้ จะกลายเป็นปัญหาใหม่ตามมา เมื่อผู้แทนฯ หลายคน กำลังชั่งใจว่าจะย้ายไปพรรค ที่ตัวเองโอกาสเข้าสภามากกว่า

ต่างกับพรรคเพื่อไทย ที่เล่นในทุกกติกาของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใด ก็แทบจะไม่เสียเปรียบพลังประชารัฐ ด้วยกระแสความนิยมที่คงเส้นคงวา จะมีเสียเปรียบบ้างก็ตรงที่ไม่ได้คุมกลไกอำนาจให้เอื้อกับฝ่ายตัวเองเท่านั้น

ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 การขับเคี่ยวกันระหว่าง พลังประชารัฐและเพื่อไทย ในอีสานจังหวัดหนึ่ง ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ทางพลังประชารัฐ ใช้ทุกวิถีทางในการต่อสู้ ถึงขนาดว่ายิงกระสุนดินดำอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่ก็เกือบไม่ชนะเพื่อไทย ตรงนี้จึงสะท้อนว่า ฝ่ายคุมอำนาจ ถึงอย่างไรก็ได้เปรียบไม่มากก็น้อย

ขณะเดียวกัน ส.ส.พลังประชารัฐ ภาคใต้ ก็ดูท่าจะชอบบัตรใบเดียวมากกว่า ด้วยความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีอยู่มาก การใช้บัตรใบเดียว ก็เท่ากับให้ชาวบ้านตัดสินใจเลือกใครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่งไปเลย ไม่เช่นนั้น หากใช้บัตร 2 ใบ ประชาธิปัตย์ จะได้ประโยชน์ไปด้วย คือมีลุ้นทั้ง ส.ส.เขตในการลงคะแนนใบแรก และคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ในการลงคะแนนใบที่ 2 เพราะคนใต้ที่รักพี่เสียดายน้อง ชอบนายกฯลุงตู่ แต่อีกใจก็ผูกพันกับประชาธิปัตย์ ซึ่งมีไม่น้อย อาจทำให้พลังประชารัฐเสียโอกาส

ถึงที่สุดแล้ว น่าสนใจว่า การจะประคองอำนาจของ 3 ป. ในเกมต่อไป จะลงเอยที่ระบบเลือกตั้งแบบใด ต้องรีบเร่งตัดสินใจ ก่อนจะลามไปถึงการไหลออกของ ส.ส.

สถานการณ์พลังประชารัฐเวลานี้ จึงระส่ำระสายไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะเลือกสูตรบัตรแบบไหน ก็มีปัญหาตามมาทั้งสิ้น เลือกบัตรใบเดียว ก็จะเจอปัญหาแบบหนึ่ง หรือถ้าเลือกไม่เปลี่ยนแปลงใช้บัตร 2 ใบ ก็จะเจอปัญหาอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง