ปิดฉากคดีป่าแหว่ง! ศาล ปค.ชี้สร้างบ้านพักตุลาการฯบนดอยชอบด้วยกฎหมาย

ปิดฉากคดีป่าแหว่ง! ศาล ปค.ชี้สร้างบ้านพักตุลาการฯบนดอยชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองเชียงใหม่ พิพากษา “กรมธนารักษ์” อนุญาต “สำนักงานศาลยุติธรรม” สร้างบ้านพักตุลาการบนดอย ไม่รุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน-อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ดำเนินการตามขั้นตอนชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องเปิดรับฟังความเห็น เป็นไปตามมติ ครม.

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ (ชั้นต้น) มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 148/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 152/2561 หรือ “คดีป่าแหว่ง” โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่ากรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม (ผู้ร้องสอด) ใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ชม.1732 (บางส่วน) ต.ดนอแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่า บางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ มีความสวยงามตามธรรมชาติของผืนป่าดอยสุเทพ อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมป่าไม้ ไม่ใช้อำนาจของกรมธนารักษ์ อีกทั้งไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนการพิจารณาอนุญาต เพราะผลจากที่ได้รับอนุญาตในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของสำนักงานศาลยุติธรรม จะต้องมีการตัดโค่นไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดสภาพป่าแหว่ง ทำให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีหน้าที่อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ และมีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ เสียสิทธิที่จะได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติผืนป่าดอยสุเทพ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนและให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับปรุงพื้นที่ให้กลับมามีสภาพดังเดิม

ศาลปกครองเชียงใหม่ วินิจฉัยแล้วสรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พื้นที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว อยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยสุเทพ และนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท เป็นอำนาจของกรมธนารักษ์

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ราชพัสดุแปลงพิพาท แม้มีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงขา บางส่วนเป็นที่สูงชันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมิได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท จึงไม่อยู่ใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้วแต่กรณี

อีกทั้งพื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 4 สำนักงานศาลยุติธรรมจึงไม่จำต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (กระทรวงขณะนั้น) และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนเริ่มโครงการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 

ดังนั้นการพิจารณาอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท จึงเป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า การพิจารณอนุญาตของกรมธนารักษ์ เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญปี 2550 (รัฐธรรมนูญ บังคับใช้ขณะนั้น) มาตรา 67 วรรคสอง จึงไม่อาจรับฟังได้

ศาลปกครองเชียงใหม่ ระบุด้วยว่า เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท เพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงชอบที่จะดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้การก่อสร้างอาคารดังกล่าวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทีว่า การก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการโค่นต้นไม้ ทำลายป่า ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าแหว่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้สวยงามตามธรรมชาติ และมีผลกระทบต่อลำห้วยแม่ชะเยือง จึงไม่อาจรับฟังได้

เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาท เมื่อใช้ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 บ้านพักตุลาการและบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์จึงไม่ต้องรับผิดดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี

พิพากษายกฟ้อง

อ่านรายละเอียดคำพิพากษา คลิกที่นี่