จับตาอภินิหารกม.คืนชีพ“บัตรใบเดียว” “3 ป.”ขยับล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล

จับตาอภินิหารกม.คืนชีพ“บัตรใบเดียว” “3 ป.”ขยับล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล

ต้องจับตา “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่เนติบริกรจะให้คำแนะนำ “3 ป.” ล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนเคลื่อนเกมคืนชีพ “บัตรใบเดียว” เพราะหากฝืนใช้ “บัตรสองใบ” โอกาสกลับมาครองอำนาจรัฐหลังเลือกตั้งจะเหลือน้อยลง

ข้อจำกัดของ “บัตรสองใบ” เมื่อลองคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อ หากหาร 100 แม้จะเข้าทางพรรคใหญ่ แต่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะได้จำนวน ส.ส. มากจนอาจจะเกินกึ่งหนึ่ง หากหาร 500 พรรคขนาดใหญ่-พรรคขนาดกลาง แทบไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เลย

“บัตรสองใบ” จึงไม่ตอบสนองพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ “3 ป.” เริ่มเคลื่อนไหววางเกมคืนชีพ “บัตรใบเดียว” โดยในทางลับ ส.ส. พปชร. รับรู้กันอย่างทั่วถึงแล้วว่ามี “ใบสั่ง” กลับหันหลัง เตรียมแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อย้อนไปใช้กฎหมายเลือกตั้งที่คล้ายคลึงกัน

ล่าสุด “3 ป.” พยายามทำความเข้าใจกับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” หลังการประชุมครม. แม้จะติดขัดกันอยู่ที่วิธีการกลับลำแก้รัฐธรรมนูญอาจจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ จึงเป็นหน้าที่ของ “3 ป.” ที่จะหาทางลงให้การคืนชีพ “บัตรใบเดียว” มีความชอบธรรมมากที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับเทอมสภาฯ ที่เหลืออยู่ แต่หากถูกเสนอเป็นวาระเร่งด่วน การพิจารณาอาจจะติดสปีดเร็วขึ้นได้ โดยสมัยประชุมปัจจุบัน ( 22 พ.ค. - 18 ก.ย.2565) สมัยประจำปี ครั้งที่สอง พ.ย.2565 ถึง ก.พ.2566 และอาจจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญขึ้น เพื่อพิจารณาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
 

เมื่อไล่ไทม์ไลน์ จะเห็นขั้นตอนได้ดังนี้ ขั้นตอนแรก เสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้าสู่การตรวจสอบญัตติโดย ส.ส. ประมาณ 1 สัปดาห์ หากเป็นร่างประชาชนจะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้อง 3 เดือน 

จากนั้นบรรจุวาระนัดประชุมล่วงหน้า ซึ่งสามารถทำได้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งวาระปกติต้องรอ 1 สัปดาห์ ก่อนพิจารณาลงมติ “รับหลักการวาระแรก” ซึ่งมีเงื่อนไข ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง

ต่อมาเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเนื้อหา ซึ่งสามารถเร่งรัดดำเนินการ เร็วที่สุด 3-4 สัปดาห์ โดยเสนอพิจารณ "วาระสอง" ซึ่งเนื้อหาไม่มาก เพียง 1-2 วันแล้วเสร็จ 

รอไว้ 15 วัน ก่อนจะมาโหวต “วาระสาม” หากไม่มีการเสนอแปรญัตติจะสามารถร่นระยะเวลาลงมาได้อีก โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ต้องเห็นชอบด้วย 20% ซึ่งก็ไม่ยาก หากใช้เสียง ส.ส.งูเห่า ที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จำนวนหนึ่งที่พอจะโหวตให้เข้าหลักเกณฑ์ตรงนี้ได้ รวมกับ ส.ว. 84 เสียง

จากนั้นรอไว้ 15 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ระหว่างนี้ ส.ส. และส.ว.สามารถเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งมีกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จ 30 วัน ขั้นตอนนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับศาล

ดังนั้น รวมทุกขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเร่งรัด จะใช้เวลาประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน แต่หาก่ไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

อีกทั้ง “ขั้วรัฐบาล” ที่กุมเสียงข้างมาก มีโอกาสที่จะขอเปิดการประชุมสมัยวิสามัญขึ้นมาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย

หลังจากนี้ต้องจับตา “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่เนติบริกรจะให้คำแนะนำ “3 ป.” ล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนเคลื่อนเกมคืนชีพ “บัตรใบเดียว” เพราะหากฝืนใช้ “บัตรสองใบ” โอกาสกลับมาครองอำนาจรัฐหลังเลือกตั้งจะเหลือน้อยลง