“อนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ” ถก งบซื้ออาวุธกองทัพ 25ก.ค. ลุ้น บินรบ F-35 กว่า 13,000 ล้าน

“อนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ” ถก งบซื้ออาวุธกองทัพ 25ก.ค. ลุ้น บินรบ F-35 กว่า 13,000 ล้าน

“อนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ” ถก วาระพิจารณางบฯ กลาโหม 3 เหล่าทัพ เฉียด2แสนล้าน 25 ก.ค.นี้ แผนซื้อ “เครื่องบินรบ F-35” จำนวน4ลำ มูลค่า 13,800 ล้าน เข้าด้วย “พท.” เกาะติด เหตุ ต้องได้ไฟเขียวจากคองเกรส สหรัฐฯ “ทอ.” แจง หากไม่ผ่านในงบฯปี66 ก็ต้องยื่นต่อในปี67 หวัง ทดแทนสิ่งที่กำลังจะขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.65) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการN 409 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่มีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน มีวาระพิจารณางบประมาณปี 2566 ของกระทรวงกลาโหม วงเงิน197,292,732,000 ล้านบาท  

โดยจะลงรายละเอียด งบประมาณของ 3 เหล่าทัพ ทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งจะพิจารณางบการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ ที่ขอจัดซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์รุ่นใหม่ล่าสุด  F-35 A จำนวน 4 ลำ มูลค่า 13,800 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อนุกมธ.ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ยังคงเกาะติดงบดังกล่าว โดยเตรียมซักถามรายละเอียด และความจำเป็นถึงการของบประมาณจัดซื้อเครื่องบินรบแบบยุทธศาสตร์F-35 A ของกองทัพอากาศซึ่งเริ่มตั้งงบในปี 2566 ในราคาลำละ 2,900 ล้านบาท และจะจัดซื้อเบื้องต้น 4 ลำ ที่ต้องได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรส ของสหรัฐอเมริกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ ทอ. เคยให้สัมภาษณ์ว่าตั้งแต่ปี 2565-2575 จะต้องทยอยปลดประจำการเครื่องบินรบเพราะเครื่องบินเก่า จะมีค่าซ่อมบำรุงที่สูงมาก บางแบบค่าซ่อมบำรุง 3-5 เท่า หรือ 700,000 - 1,000,000 ต่อ 1 ลำ แต่ประสิทธิภาพก็เท่าเดิม ซึ่งเรามองว่าหากเราต้องปลดประจำการเครื่องบินรบออกไป 3 ฝูงบิน เราจะไม่มีโอกาสทดแทน 3 ฝูงบินแน่นอน เราจึงมาพิจารณาว่าเครื่องบินแบบไหนที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพ 1 ฝูงบิน แต่สามารถทดแทนได้ 3 ฝูงบินสรุปว่า F-35 ตอบโจทย์ที่สุด 

"งบประมาณในการจัดซื้อ F -35 ถ้าหากได้ ก็เป็นงบของกองทัพอากาศ งบปี 2566 กว่า 700 ล้านบาท ในการที่จะเริ่มต้นโครงการ เช่น ปรับปรุงสถานที่อุปกรณ์สนับสนุนการบิน และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบินซึ่งอาจจะไม่ต้องจ่ายทั้งลำก็ได้ แต่ถ้าเริ่มต้นช้า ก็อาจต้องยืดเวลาออกไป และอาจจะทบทวนโครงการอีก ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ ผบ.ทอ.ได้ให้คณะทำงานได้มาวิเคราะห์ และมีการสัมมนาทางด้านยุทธการระดมผู้เชี่ยวชาญของกองทัพอากาศทั้งหมด ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านความมั่นคงและการเมืองทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงในอนาคต สรุปเป็นแนวทางจึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา และถ้าหากไม่ผ่านในงบประมาณปี 2566 ก็ต้องยื่นต่องบประมาณปี 2567 เพราะเป็นโครงการที่จะมาทดแทนในสิ่งที่เรากำลังจะขาด และวิเคราะห์ว่าจะมีปัญหาในอนาคตแน่นอน ไม่ได้สร้างใหม่ในสิ่งที่เรามีอยู่ ให้เกินเลย"