ปรับ ครม. เพื่อใคร

ปรับ ครม. เพื่อใคร

จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งล่าสุด ใครได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด-มากที่สุด จะสะท้อนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือการปรับ ครม. ของรัฐบาล ซึ่งหากมีการปรับ ครม. จริง ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

สัปดาห์นี้การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เนื่องจากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งสุดท้าย โดยที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง มีการลงมติ 2 ครั้ง และอภิปรายทั่วไป ไม่ลงมติ 1 ครั้ง ถือว่าคะแนนผ่านฉลุย และมีการคาดการณ์ว่าครั้งนี้รัฐบาลก็น่าจะผ่านกันทุกรัฐมนตรี

เพียงแต่ที่จะลุ้นกันคือ ใครได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด หรือไม่ไว้วางใจมากที่สุด เพราะคะแนนเหล่านี้สะท้อนเชิงสมการทางการเมือง เป็นเรื่องความชอบธรรม ที่จะสะท้อนไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือการปรับคณะรัฐมนตรี ในช่วงอายุ 8 เดือนของรัฐบาล ซึ่งจะปรับใครออก กระทรวงไหน คะแนนโหวตไม่ใช่ตัวแปรตัดสิน แต่อย่างน้อยเป็นความชอบธรรมในการปรับเปลี่ยน

แต่การปรับคณะรัฐมนตรี ในระยะ 8 เดือนที่เหลือ เป้าหมายหวังให้การบริหารประเทศดีขึ้น คงไม่น่าจะใช่ แต่หัวใจของปลายเทอมรัฐบาลคือการจัดสรรอำนาจผลประโยชน์ใหม่ก่อนครบเทอม หวังจะส่งผลให้เครือข่ายตัวเอง มีความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

การปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนดีขึ้นนั้น อาจจะแก้ไม่ตรงจุด เพราะหากพิจารณามุมมองของฝ่ายค้านในการอภิปราย กล่าวหาถึงความล้มเหลวอยู่ที่ “ผู้นำ” คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นความล้มเหลวหลายด้าน เริ่มจากประการแรก ผู้นำแห่งความล้มเหลว ไร้ความชอบธรรม เขียนรัฐธรรรมนูญเพื่อสร้าง “กองกำลังในสภา”

ไร้ความสามารถ “ไม่ใช่ผู้นำที่เหมาะสมกับประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติหนักหน่วงอย่างเช่นประเทศไทย” และ ขาดวิสัยทัศน์ “บังอาจตั้งตนเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตำแหน่งใหญ่โตเกินความสามารถของตนเอง” ส่งผลให้ เศรษฐกิจพังพินาศ ล้มเหลว ผลที่เกิดคือประชาชน “สิ้นหวังกันทั้งแผ่นดิน”

ตามมาด้วย สังคมล้มเหลว ความขัดแย้งยาวนาน กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง สาเหตุจากเมล็ดพันธ์แห่งความขัดแย้ง คือ รัฐธรรมนูญ ปี 60 คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน เยาวชน ถูกปิดปาก

ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อเมื่อฝ่ายค้านอ้างปัญหาอยู่ที่ผู้นำ การปรับ ครม.ในช่วง 8 เดือนรัฐบาล ทำเพื่ออะไร คำตอบการเขย่าในจุดที่ควรจะเป็น เหลือระยะเวลา 8 เดือนก็ถือว่ามีระยะเวลาพอ เพื่อไม่ให้ประเทศแย่ไปกว่านี้

โดยเฉพาะการรับมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเราถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะกระทบกรเทื่อนไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ต้องวางแผนรับมือกันอย่างจริงจัง อย่าให้การปรับ ครม. เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ หรือเพียงเพื่อจัดทัพการเลือกตั้งอย่างที่กำลังพูดถึงวันนี้ 

อาจจะมีการจัดสรรในกลุ่ม 3 ป. กันใหม่ ให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปนั่งรัฐมนตรีมหาดไทยเพื่อรองรับการเลือกตั้ง และโยกพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ไปนั่ง กลาโหมหรือกระทรวงพลังงานแทน ซึ่งหากคิดในสูตรนี้ เท่ากับว่าปรับ ครม. เพื่อตอบโจทย์เครือข่ายอำนาจมากกว่าที่จะทำเพื่อประเทศชาติ