ดับฝันพรรคเล็ก! "ไพบูลย์" ยันมติวิปรัฐฯ-พปชร.ยึดตามกมธ. "ส.ส.หาร100"

ดับฝันพรรคเล็ก!  "ไพบูลย์" ยันมติวิปรัฐฯ-พปชร.ยึดตามกมธ. "ส.ส.หาร100"

"ไพบูลย์" ดับฝันพรรคเล็ก บีบคืนชีพส.ส.หาร500 ยืนยันมติวิปรัฐบาล-พปชร.ยืนกรานตามกมธ.ยึดสูตรส.ส. "หาร100" ตามเดิม

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ  และ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาหลายท่าน หลายกลุ่ม กล่าวว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ในส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากคำนวณโดยใช้จำนวน 100 หาร จะขัดต่อรัฐธรรมนูญจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนหลายประการ

โดยขอยืนยันว่าการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ด้วย 100 นั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

ซึ่งการกล่าวเช่นนี้เป็นการกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เนื่องจาก กกต. เป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132  ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนใน (2) ว่า ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ให้รัฐสภาส่งร่าง พ.ร.ป. นั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าวให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ใน (3) บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่าง พ.ร.ป. ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความผิดดังกล่าว

ในการนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป และเมื่อ กกต. เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวมา และเสนอหาร 100 จากนั้นจึงส่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ก่อนส่งมายังรัฐสภา 

ดังนั้น การกล่าวหาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้เท่ากับกล่าวหาต่อ กกต. และส่งผลกระทบต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา 

สำหรับประเด็นการได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่นั้น ขอชี้แจงว่า การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นที่มาของการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ คือเป็นไปตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องให้ความเชื่อถือกับองค์กรอิสระคือ กกต. ที่เป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้มา

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 65) คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ได้มีการประชุมและยืนยันว่าวิปรัฐบาลมีมติเห็นชอบกับคณะ กมธ. และร่างของ กกต. และพรรคพลังประชารัฐเองก็ยึดหลักการตาม คณะ กมธ. เช่นกัน