ยื้อร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ หลัง "กมธ." ขอแก้เนื้อหาเว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งใหม่

ยื้อร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ หลัง "กมธ." ขอแก้เนื้อหาเว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งใหม่

รัฐสภา ยังจบ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่ลง หลัง "ปิยะ" เสนอเพิ่มข้อความใหม่ เว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งตามร่างกม. ห่วงมีผลกระทบ ข้าราชการถูกพรากสิทธิ์ แต่ถูกท้วงเสนอมิชอบ จนต้องปิดประชุมกลางคัน ค้างอีก4มาตรา

        ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ (พ.ศ....) ซึ่งกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จในวาระสอง ต่อเนื่องเป็นครั้งที่หก โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้พิจารณามาจนถึงมาตรา 169/1 ซึ่งเป็นบทบัญัติที่กมธ. เพิ่มขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกับมาตรา 69 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักเกณฑ์กำหนด โดยได้กำหนดห้วงระยะเวลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้คำนึงถึงระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

 

          ทั้งนี้ในการพิจารณาพบว่ามีเหตุที่ทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกัน จนทำให้ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมาธิการฯ หาข้อยุติ หลังจากาที่ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย กมธ. ได้เสนอให้มีการแก้ไขในมาตราดังกล่าว โดยใช้ถ้อยคำว่า “ในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง ก็จะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.นี้”  

 

              พร้อมเสนอคำอธิบายว่า เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการแต่งตั้ง และไม่ใช้กฎหมายบังคับใช้โดยทันที ที่จะส่งผลให้ตำรวจที่มีสิทธิเลื่อนตำแหน่งตามกฎหมายเดิมจะถูกตัดสิทธิทันที แบ่งเป็นกลุ่มผู้บังคับการ 72 ราย รองผู้บัญชาการ 49 นาย รวม 121 นาย เกิดเป็นปัญหาการพรากสิทธิ์  

 

          "เนื่องจากในวาระเริ่มแรกนี้การย้ายข้ามหน่วย ข้ามภูมิลำเนา จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะชั้นประทวน และระดับรองสารวัตร ซึ่งมีเงื่อนไขการย้าย คือ ในทุกปีจะมีภาพรวมช่วงเวลาการแต่งตั้งที่จะมีระดับรองสารวัตรไม่น้อยกว่า 400 นาย ชั้นประทวน 3,000 กว่านาย ร้องขอกลับภูมิ แต่เงื่อนไขใหม่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่ตามกฎหมายเดิมจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตรากตรำครบ 4 ปี จะหมุนเวียนให้กลับภูมิลำเนาได้” พล.ต.อ.ปิยะ ชี้แจง

ยื้อร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ หลัง \"กมธ.\" ขอแก้เนื้อหาเว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งใหม่

          ทั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภาทักท้วงว่าการเสนอให้แก้ไขมาตราดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เนื่องจากพล.ต.อ.ปิยะไม่ได้สงวนคำแปรญัตติไว้ และเป็นการเพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่ ทำให้มีข้อเสนอให้ถอนร่างพ.ร.บ.กลับไปพิจารณาก่อนจะเสนอใหม่ ทำให้นายพรเพชร ตัดสินใจพักการประชุม แต่เมื่อกลับมาประชุมอีกครั้งยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นยุติ

 

 

          ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า แว่วว่าการเพิ่มข้อความของพล.ต.อ.ปิยะ เพื่อช่วยใครบางคน เป็นเรื่องไม่เหมาะสม อย่าทำให้ภาพลักษณ์ของกฎหมายดังกล่าวแย่ไปกว่านี้ จึงขอเสนอให้เดินหน้าการประชุมต่อ 

 

          ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน.ที่ผ่านมา ทางคณะกมธ.ได้ประชุมกันเองในเรื่องนี้ แต่หาข้อสรุปเองไม่ได้ สุดท้ายจึงใช้วิธีให้พล.ต.อ.ปิยะเสนอกลางสภาฯ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ ทางที่ดีเดินหน้าประชุมต่อ โดยลงมติว่าจะเห็นด้วยกับที่กมธ.เสียงส่วนใหญ่เพิ่มทั้งมาตรา หรือให้ตัดออกทั้งมาตรา

 


          ทำให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รองประธานกมธ. รักษาการประธานกมธ. แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอให้ทางคณะกมธ.ได้ไปปรึกษาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 4 กรกฏาคมนี้  เพื่อปรับถอยคำ

 

           ซึ่งนายพรเพชรก็ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 17.25 น. โดยกล่าวว่า วันนี้สมาชิกรัฐสภาเหนื่อยล้ามาทั้งวัน และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ให้ทางกมธ.ไปดำเนินการ เป็นเรื่องของทางคณะกมธ.

 

          อย่างไรก็ดีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในครั้งที่หกนี้ ยังไม่สามารถพิจารณาแล้วเสร็จในวาระสองได้ คงเหลืออีก 4 มาตรา.