"อาคม" รับข้อเสนอ "พิธา" ช่วย "ผู้ใช้น้ำมัน" แบบเฉพาะกลุ่ม

"อาคม" รับข้อเสนอ "พิธา" ช่วย "ผู้ใช้น้ำมัน" แบบเฉพาะกลุ่ม

พิธา ตั้งกระทู้ถามสด รมว.คลัง ปมวิกฤติพลังงาน - อาหาร ไม่เชื่อมือ "สมช." เขียนแผนแก้วิกฤติ ด้าน​ "อาคม" ยอมรับปมเชี่ยวชาญ แต่เชื่อมือจะประสานหน่วยงานอื่น พร้อมรับข้อเสนอช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันแบบเฉพาะกลุ่ม

         

ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ช่วงกระทู้ถามสด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อปัญหาวิกฤติพลังงาน และเศรษฐกิจ ต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

ทั้งนี้นายพิธา ตั้งคำถามต่อปัญหาวิกฤติพลังงานที่พุ่งสูงถึง 30% และต้องใช้งบประมาณเยียวยากว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้การช่วยเหลือ และแก้วิกฤติพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ควรพิจารณาการช่วยเหลือแบบตรงจุด ไม่ใช่เหมารวมผู้ใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด เพราะปัจจุบันพบว่ามีผู้ใช้รถเบนซ์ที่ใช้น้ำมันดีเซลได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันของกลุ่มเปราะบาง 4.3 ล้านคนเป็นคนจน ใช้น้ำมันเบนซิน ดังนั้นหากสถานการณ์ยืดเยื้อรัฐบาลมีแผนสำรองเพื่อแกัปัญหาหรือไม่ ขณะเดียวกันกรณีที่รัฐบาลตั้ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช. ) ดูแลแผนแก้วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร ตนสงสัยในความเชี่ยวชาญในการวางแผนและแก้ปัญหาเนื่องจากไม่พบว่ามี รมว.พลังงาน หรือ รมว.พาณิชย์ เป็นคณะทำงาน 

จากนั้น นายอาคม ชี้แจงว่า รัฐบาลมีแผน และมาตรการช่วยเหลือประชาชน ผ่านเครื่องมือทางการคลัง เช่น ลดภาษีน้ำมันดีเซล  เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาขนส่ง ค่าครองชีพ นอกจากนั้นจะมีมาตรการพยุงราคา และตรึงราคา สำหรับการเจรจากับโรงกลั่นต่อการลดค่าการกลั่นนั้น คาดว่า 1-2 วันนี้จะมีความก้าวหน้า

         

“ในภาวะปกติไม่เคยมีการขึ้นราคา แต่ในภาวะช็อกแบบนี้ต้องพิจารณาถึงการปรับราคา นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่ต้องดำเนินการ ทั้งประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน สำหรับข้อเสนอต่อการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนั้นเป็นสิ่งที่ผมจะกลับไปคิด” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม ชี้แจงต่อกรณีการให้ สมช.ดูแลแผนแก้วิกฤติพลังงานและอาหาร ด้วยว่า สมช. เป็นหน่วยงานความมั่นคง ทั้งมั่นคงของประเทศ การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม สำหรับประเด็นเศรษฐกิจนั้น อาจเป็นอย่างที่กล่าวว่าจะมีความเชี่ยวชาญหรือไม่ ดังนั้นอาจต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ มากกว่า ตนเชื่อว่า สมช.จะแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และจะได้รับความร่วมมือ 

 

 "ขณะนี้ นายกฯ​ มอบหมายให้ สมช. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรการทั้งหมด ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น ครอบคลุมเรื่องพลังงาน อาหาร ที่ผ่านมาประชุมแล้ว 2 ครั้งเข้าใจว่าน่าจะมีข้อสรุป และมาตรการต่างๆ เสนอแนะ นายกฯ​ ต่อไปรวมถึงแผนหนึ่ง แผนสอง ยกระดับแผนแต่ละแผนเรื่องอะไรบ้าง” นายอาคม กล่าว

         

ทั้งนี้ในตอนท้ายของการถามกระทู้สด นายพิธา ตั้งคำถามถึงการเลื่อนโครงการจัดหารถโดยสารประจำทางที่ใช้ไฟฟ้าออกไปเพราะต้องรอสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา โดยนายอาคม ยอมรับว่าโครงการดังกล่าวต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะการจัดหารถโดยสารประจำทางที่ใช้ไฟฟ้า มาแทนรถประจำทางเอ็นจีวีต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์

 

 อย่างไรก็ดีนายพิธา  กล่าวชวนนายอาคม ให้ลองใช้รถโดยสารประจำทางเพื่อให้ทราบถึงปัญหาโดยหลังเลิกประชุมสภาฯ​ ตนจะใช้บริการรถโดยสารประจำทางเดินทางจากรัฐสภากลับบ้านด้วย 

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์