"นายกฯ" จับคอมพิวเตอร์ ลงมือทดลอง เขียนโปรแกรม Coding ด้วยตัวเอง

"นายกฯ" จับคอมพิวเตอร์ ลงมือทดลอง เขียนโปรแกรม Coding ด้วยตัวเอง

"นายกฯ" เยี่ยมชมผลการดำเนินงานพัฒนาทักษะการเขียนชุดคำสั่ง หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Coding) ให้แก่เยาวชนตามนโยบายรัฐบาล พร้อมทดลองด้วยตัวเอง ย้ำ ให้ขับเคลื่อนต่อเนื่องไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ สอนเด็กกตัญญูพ่อแม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมผลการดำเนินงานพัฒนาทักษะการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Coding) ให้แก่เยาวชน ณ โรงเรียนวัดเวฬุวัน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศรองรับการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมีพล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย 

โดยนายกฯ ได้เยี่ยมชมผลงานการยกระดับทักษะของครูผู้ผ่านการเรียนการสอนจริง ผลงานด้านโค้ดดิ้งของนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ และกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน(Digital Bus) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน เพื่อนำ Digital Bus ไปสอน และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชน และผู้สนใจในพื้นที่ต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงการเรียน การสอน การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขั้นพื้นฐาน (Coding) และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของนักเรียนด้วยความสนใจ และทดลองการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขั้นพื้นฐาน (Coding) ร่วมกับเยาวชน และเด็กนักเรียนด้วย 

\"นายกฯ\" จับคอมพิวเตอร์ ลงมือทดลอง เขียนโปรแกรม Coding ด้วยตัวเอง

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมเยาวชน และเด็กนักเรียนทุกคนที่ผ่านการพัฒนาทักษะการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Coding) จนสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เก่งมาก สุดยอด ซึ่งการทำเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีในการพัฒนาทักษะรองรับสำหรับอนาคตในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจดิจิทัล และให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถที่จะสร้างอาชีพรายได้ให้กับตนเอง และครอบครัวได้อีกด้วย

รวมทั้งนายกรัฐมนตรียังชื่นชมการนำ Coding เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร สมาร์ทฟาร์ม ระบบรดน้ำอัตโนมัติ อุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน อาทิ การเปิด-ปิดไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น 

นายกฯ ย้ำว่าการทำสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมสามารถพัฒนาต่อยอดขยาย และนำไปปรับใช้ในด้านต่างๆ ได้อีกมาก พร้อมย้ำว่าเด็กเยาวชนทุกคนเหล่านี้คือ กำลังสำคัญอนาคตของประเทศไทย และขอให้เด็กเยาวชนทุกคนมีความรักกตัญญูต่อพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครูซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้แก่เด็กทุกคน และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันดำเนินโครงการดังกล่าวจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างพบปะนักเรียน และดิจิทัลสาร์ทอัพ ย้ำว่าสิ่งที่เสนอในเรื่องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และ Coding สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่แล้วตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และจะให้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมอบหมายกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะด้านการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการขับเคลื่อนเรื่องบล็อกเชน และเมตาเวิร์ส มาปรับใช้ด้านต่างๆ เพื่อสร้างฐานอาชีพใหม่ให้กับประเทศ ให้สอดรับกับการพัฒนา และทันกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของโลก 

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ย้ำว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง รวมทั้งเน้นย้ำให้เด็กเยาวชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

สำหรับโรงเรียนวัดเวฬุวัน เป็น 1 ใน 24 โรงเรียนเป้าหมายในพื้นที่ภาคเหนือของการดำเนินโครงการ Coding Thailand ซึ่งเป็นโครงการแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศ ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดำเนินการเพื่อเพิ่มทักษะและบ่มเพาะเยาวชนสู่การเป็นผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล โดยในปี พ.ศ.2563 ได้สนับสนุนโครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้และทักษะการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน (Coding) รวมทั้ง STEM IOT และ AI ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนนำร่องจำนวน 9  โรงเรียน และในปี 2564 ได้ต่อยอดการดำเนินการไปยังโรงเรียน 90 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยโรงเรียนทั่วไป โรงเรียนกองทุน และโรงเรียนเฉพาะความพิการ 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2561-2564 ที่ดีป้าเริ่มส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งนั้น สามารถสร้างการรับรู้ และกระตุ้นความสนใจในทักษะโค้ดดิ้ง ที่จะเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญในอนาคต ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม มากกว่า 1.5 ล้านคน การพัฒนาบุคลากรครู มากกว่า 4,700 คน การพัฒนาทักษะเยาวชน มากกว่า 387,000 คน การส่งเสริมให้โรงเรียนเข้าถึง และสามารถพัฒนาการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Coding 2,500 แห่ง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์