“ปริญญา”ชงทำสัญญาประชาคม บรรจุรัฐธรรมนูญ"ห้ามรัฐประหาร"

“ปริญญา”ชงทำสัญญาประชาคม  บรรจุรัฐธรรมนูญ"ห้ามรัฐประหาร"

“ปริญญา” นำเสนองานวิชาการ แนวทางทำให้รัฐประหารหมดไป ชี้ศาลจำเป็นต้องรับรองการรัฐประหาร แม้ขัดรัฐธรรมนูญ ชงทำสัญญาประชาคม เขียนในรัฐธรรมนูญห้ามทำรัฐประหาร เสนอแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองประกาศ และคำสั่งคสช.

วานนี้ (27 มิ.ย.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิชาการ เนื่องในวาระ 90 ปี ประชาธิปไตยเรื่อง "การทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทย ด้วยมาตรการทางกฎหมาย และบรรทัดฐานของศาล" โดยมี นายธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ทำหน้าที่วิจารณ์

นายปริญญา กล่าวว่า การปกครองระบบประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนมีความเสมอภาค ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเรามีการทำรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จถึง 13 ครั้ง ทำให้รัฐธรรมนูญถูกร่างใหม่มา 20 ฉบับ ฉะนั้น ตราบใดที่การรัฐประหารไม่หมดไป การปกครอบรูปแบบประชาธิปไตยจะไม่มีวันสำเร็จเลย ขณะนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่า การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก เราจึงต้องแก้ไขกันตั้งแต่บัดนี้

“การรัฐประหารครั้งล่าสุด ซึ่งไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เราต้องหาหนทางกัน เมื่อมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ซึ่งมีโทษสูงสุด ประหารชีวิต ต่ำสุด จำคุกตลอดชีวิต ซึ่งร้ายแรงมาก แต่ไม่มีการบังคับใช้มาตราดังกล่าว เนื่องจากการรัฐประหารจะได้รับการรับรองจากฝ่ายตุลาการ เพราะเมื่อยึดอำนาจสำเร็จ ก็จะสามารถออกข้อประกาศบังคับใช้ได้”

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้นการจะทำให้รัฐประหารหมดไป ฝ่ายตุลาการต้องเลิกรับรองการรัฐประหาร ตนนำเสนอเช่นนี้ แต่ในทางปฏิบัติ ยากที่จะทำได้ หรืออาจจะทำไม่ได้เลย เพราะมีการรัฐประหาร จะมีความซับซ้อนในการรับรองมากขึ้น นักกฎหมายที่ไปช่วยคณะรัฐประหาร จะหาหนทางในการป้องกันทุกวิถีทาง จนทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าว ทำได้ยากขึ้น

“จุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร คือการล้มรัฐธรรมนูญ โดยใช้ประกาศของคณะรัฐประหาร แต่เพียงไม่นานจะมีการออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งจะรองรับว่า ประกาศของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อคดีไปถึงศาล ต่อให้ศาลจะต้องเปลี่ยนบรรทัดฐาน แต่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว เพราะประกาศคณะรัฐประหาร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว” นายปริญญา กล่าว

ชงแก้รัฐธรรมนูญ ม.297

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางอื่น อาทิ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรัฐประหารปี 2557 ทำให้การรัฐประหารตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่รับรองการรัฐประหารถูกล้มล้างด้วยการรัฐประหารไปก่อนแล้ว ดังนั้นเราจึงสามารถดำเนินการกับรัฐประหารก่อนปี 2557 ได้ เพราะยังมีสถานะชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย

“ดังนั้นต้องมีมาตรการทางรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อยกเลิกมาตรา 279 เสียเลย เพื่อให้สถานะประกาศและคำสั่งของ คสช. เหมือนกับประกาศ และคำสั่งของรัฐประหารตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญรับรองแล้ว หรือมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา”

นายปริญญา ระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังมีวิธีการ ทำให้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่คิดว่าจะมีผลทางกฎหมาย นำมาดำเนินการออกเป็น พ.ร.บ.ทั้งหมด เพื่อขจัดเอาประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้พ้นจากกฎหมายไทยให้หมด เพื่อเป็นการส่งสัญญาณจากสังคมว่า ต่อไปนี้เราเลิกแล้ว ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารจะไม่มีที่ยืนในกฎหมายไทยอีกต่อไป

แนะเขียน รธน.ห้ามทำรัฐประหาร

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ที่สำคัญเราต้องเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาล และบรรทัดฐานของประเทศ ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่จะเขียนเพียงแค่ว่าการรัฐประหารทำไม่ได้ การรับรองการรัฐประหารทำไม่ได้ เขียนเพียงแค่นี้ไม่สำเร็จ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2517 เคยพยายามมาแล้ว ด้วยการเขียนไว้ว่า การนิรโทษกรรมด้วยการล้มล้างรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ แต่แล้วรัฐธรรมนูญปี 2517 ก็ถูกล้มล้างไป

ฉะนั้น กระบวนการที่จะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องมีมากกว่าเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญ มันต้องมีกระบวนการสร้างสัญญาประชาคม จากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าจากนี้ไป เราจะเลิก เราจะทำให้รัฐประหารหายไป ซึ่งตนเห็นว่าเราควรมีกระบวนการบัญญัติเอาไว้ แต่จะใช้ถ้อยคำอย่างไร จะใช้กระบวนการสัญญาประชาคมอย่างไร และต้องไม่เรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร ซึ่งมาตรการ ต้องมาถกเถียงกัน ซึ่งตนเชื่อว่าเราทำได้ ถ้าเราจะทำ แต่ที่ผ่านมา เราไม่ทำ เราอยู่กันแบบนี้ จนกว่าเขาจะรัฐประหารอีก

8 ปีกลุ่มอำนาจใหม่ตรวจสอบยาก

“โดย 8 ปีที่ผ่านมา เราน่าจะสรุปได้แล้วว่า การรัฐประหารไม่ได้แก้ไขปัญหาการเมืองได้เลย ไม่ได้แก้ไขให้มีประชาธิปไตยที่มั่นคงขึ้นมาได้ แต่ได้ผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่ ที่ตรวจสอบยากขึ้นกว่าเดิม หรือตรวจสอบไม่ได้เลย และจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แย่ลงกว่าเดิมไปทุกครั้ง และมีการเขียนวิธีการสืบทอดอำนาจแบบลึกซึ้งมากขึ้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันดำเนินการ” 

"การจะทำให้การรัฐประหารหมดไป เราต้องทำ เราต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่บัญญัติว่า การรัฐประหาร ยึดอำนาจ เป็นสิ่งที่ทำได้ หากทำสำเร็จ เราต้องขจัดความเชื่อตรงนี้" ​นายปริญญา กล่าว

“โภคิน”เห็นพ้องทำสัญญาห้ามรัฐประหาร

นายโภคิน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการให้ยกเลิกมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ไม่คิดว่ารัฐบาลและ 250 ส.ว. คงไม่กล้าให้ยกเลิก มันจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นความหวังอยู่ที่ศาล เนื่องจากคณะรัฐประหารกระทำขัดหลักนิติธรรมตั้งแต่ต้น 

ส่วนข้อเสนอให้ทำสัญญาประชาคม ระบุห้ามทำรัฐประหารนั้น ตนเห็นว่าควรระบุว่าบทบัญญัติห้ามกระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถือประเพณีการปกครองในระบบประชาธิปไตย และจะดำรงอยู่ตลอดไป ตราบใดที่เรายังปกครองตามระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“โดยถือว่าคนที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ คือคนที่ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสถาบันดำรงอยู่เพราะมีรัฐธรรมนูญรับรองสถานะ แต่เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญ สถาบันจะอยู่ตรงไหน ดังนั้นผมจึงคิดว่าถ้าเราจะยึดประเพณีดังกล่าว ต้องมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจน”

ปลุกปชช.ตื่น เปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่

นายโภคิน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนอยากให้เขียนไปในรัฐธรรมนูญเลยว่า หากมีการรัฐประหารให้ถือว่าประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ รวมถึงการนิรโทษกรรมใดๆก็ตาม ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ซึ่งตนคิดว่า หากเราเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ ศาลคงไม่กล้าอ้างตรงนี้

“ผมเชื่อว่าวันนี้ประชาชนจะเรียนรู้และฉลาดพอ มีหลายคนบอกผมว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า เงิน อำนาจ และอิทธิพล จะครอบคนได้ต่อไป แต่ผมไม่เชื่อ วันนี้ต้องขอบคุณหลายคนที่ออกมาบอกว่ารัฐประหารมันเลวร้ายเพียงใด ประชาชนโดนกดทับอย่างไร และหากยังเลือกรับเงิน กลัวอำนาจ กลัวอิทธิพล ก็ช่วยไม่ได้แล้ว ดังนั้นเราต้องตื่นทั่วประเทศ ตื่นมาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันใหม่ และจะเป็นการตื่นครั้งสำคัญของคนไทย”

“ธงทอง”ชี้แก้ม.279ทำยาก-ส.ว.ขวาง

นายธงทอง กล่าวว่า ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ในทางทฤษฎี ตนเห็นว่าพอมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติเราต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำร่วมกันทั้งรัฐสภา ซึ่งต้องมีเสียง ส.ว. 250 คน ฉะนั้นจึงอาจแก้ไขไม่ได้

สำหรับการชำระบัญชีประกาศ และคำสั่งคณะรัฐประหาร ตนเห็นด้วยว่า จะต้องนำมาชำระ บางอย่างอาจต้องปรับปรุง บางอย่างต้องยกเลิก กรณีนี้น่าจะสามารถดำเนินการได้ 

ส่วนข้อเสนอให้ทำสัญญาประชาคม ห้ามทำรัฐประหาร ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่งเราต้องสร้างแนวความคิดแบบนี้ โดยเรื่องนี้ต้องมีขยายผล ต้องปลูกฝังนักกฎหมายรุ่นใหม่ และจะต้องมีคำตอบใหม่ๆ