“สมคิด” ชำแหละประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”ไม่อายฟ้าดิน หวังแค่แสวงประโยชน์

“สมคิด” ชำแหละประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”ไม่อายฟ้าดิน หวังแค่แสวงประโยชน์

“สมคิด” ปาฐกถา “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” ชำแหละประชาธิปไตยแบบ “แจกกล้วย” ไม่อายฟ้าดิน แสวงประโยชน์ทางการเมือง แนะต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ใช่ของ “กลุ่มการเมือง” ไม่กี่กลุ่ม หรือ “ครอบครัว” ไม่กี่ตระกูล

วันนี้ (27 มิ.ย.65) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 88 ปี โดยมีพิธีมอบเข็มเกียรติยศประจำปี 2565 แด่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ โดย นายสมคิด รับมอบจากศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

โอกาสนี้ นายสมคิด ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” ระบุว่า 
ต้องขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยที่ได้มีมติมอบเข็มเกียรติยศประจำปี 2565 ให้กับกระผม ถือเป็นเกียรติยศแห่งชีวิตที่สูงยิ่ง และมีความหมายกับผมเป็นอย่างมาก เพราะแม้ตลอดชีวิตการทำงาน จะไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ แต่นี่เป็นสิ่งที่สถาบันศึกษาที่สร้างเราขึ้นมาเป็นผู้มอบให้ มันจึงมีความหมายอย่างยิ่ง

อีกไม่กี่วันข้างหน้า ผมก็จะมีอายุครบ 69 ปีแล้ว เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตล้วนหมดไปกับหน้าที่การงาน 15 ปีกับชีวิตการเป็นอาจารย์ กว่า 20 ปีบนเส้นทางชีวิตการเมือง และกว่า 10 ปีที่อยู่ในตำแหน่งในรัฐบาล นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอควรเลยทีเดียว 

เคยมีคนถามผมเหมือนกันว่า ทำไมจึงได้เลือกเดินเส้นทางนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความสนใจในการเมืองมาก่อนเลย คำตอบก็คือ ผมไม่ได้ตั้งใจเลือก แต่เสมือนมีบางสิ่งชี้นำ และผลักดันให้ชีวิตเดินบนเส้นทางนี้มาโดยตลอด และสิ่งชี้นำนี้มาจากสิ่งอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากประสบการณ์ชีวิต 4 ปีเต็มในรั้วธรรมศาสตร์

ผมเข้าธรรมศาสตร์ ปี 2516 จบปี 2519 เป็นช่วงเวลาที่ธรรมศาสตร์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษา แต่ยังรวมถึงมวลหมู่คณาจารย์ด้วย เกือบทุกวันเมื่อท่านเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ก็จะมีประเด็นข่าวสารบ้านเมืองให้ท่านรับรู้เสมอ บ้างถูกติดให้อ่านบนกำแพง บ้างจากใบปลิวที่มีเพื่อนนักศึกษา หรือ อาจารย์บางท่านที่ยืนแจก โดยเฉพาะประตูท่าพระจันทร์

การจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยคึกคักยิ่งทั้งงานอภิปราย งานประชุมสัมมนามีให้เห็นเป็นประจำ ซึ่งเปิดกว้างให้คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนนักศึกษาและภาคประชาชนได้เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง ในการวิเคราะห์ วิพากษ์ และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในขณะนั้น 

การออกค่ายของนักศึกษาเพื่อไปเรียนรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงในชนบทแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษาในสมัยนั้น บ่อยครั้งที่ท่านจะเห็นกลุ่มชาวนา และกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาพบปะกันในมหาวิทยาลัย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระบายปัญหา และความยากลำบากของเขาให้นักศึกษาได้รับรู้ 

บรรยากาศเหล่านั้นในช่วงชีวิต  4 ปี ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ล้วนช่วยให้นักศึกษาในยุคนั้น มีความตระหนักรู้ในความเป็นจริงของบ้านเมือง ตื่นตัว มีความคิดอ่านเกินวัยในมิติของบ้านเมือง มีแรงบันดาลใจ และจิตสำนึกร่วมสูงยิ่ง ที่จะรับใช้สังคม

ยิ่งเมื่อพวกเขาได้ร่วมชุมนุมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ซึ่งส่วนใหญ่ของนักศึกษาในขณะนั้น ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยจิตบริสุทธิ์ ก็ยิ่งทำให้จิตสำนึกร่วมนั้นมั่นคงยิ่งนักเป็นจิตวิญญาณที่ถูกปลูกฝังในจิตใจ และมีอิทธิพลโน้มนำความคิด ทัศนคติ แนวทางการดำเนินชีวิต และการประพฤติปฏิบัติของชาวธรรมศาสตร์ในยุคนั้นในหลากหลายบทบาทที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ จิตสาธารณะที่คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ

มาถึงวันนี้ ธรรมศาสตร์ก้าวมาถึงปีที่ 88 แล้ว บางยุคบางสมัย บริบทในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น สุกงอมสมบูรณ์ และเข้มข้น จนสามารถสร้างบุคลากรที่มีความมุ่งมั่น และแรงบันดาลใจ ที่ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมภายนอก 

บางยุคบางสมัยเงื่อนไขในบริบทนั้น ก็อาจเบาบางลงไปบ้าง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัดทางสังคมและการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย นั่นเป็นเรื่องปกติของความเป็นอนิจจัง มีศิษย์เก่าธรรมศาสตร์บางท่านถึงกับกล่าวอย่างสะท้อนใจว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นหายไปไหน คงเหลือแต่คำเล่าขานแล้วกระมัง แต่ผมนั้นไม่เห็นด้วย กลับมั่นใจว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ไม่ได้หายไปไหน และพร้อมจะกลับมาลุกโชนใหม่ได้เสมอ 

ท่านผู้มีเกียรติครับ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น เป็นผลพวงของบริบทอันเป็นเบ้าหลอมในรั้วมหาวิทยาลัย กับความมุ่งมั่น และจิตสำนึกของคนธรรมศาสตร์  และผมเชื่อว่าบริบทอันเป็นเบ้าหลอมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง แต่สามารถปรับปรุงให้มีองค์ประกอบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกาลสมัย และความต้องการของคนในแต่ละรุ่น 

และเมื่อใดก็ตามที่มหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริม และสนับสนุนให้นักศึกษากลับมาตื่นตัว สนใจในประเด็นสาธารณะ ที่พวกเขาเห็นว่า สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของพวกเขา และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกซึ่งความคิดของเขา โดยที่สังคมพร้อมรับฟัง และ respect ในความคิดของพวกเขา ว่าพวกเขาคิดอย่างไรที่จะแก้ปัญหา และจะสร้างอนาคตบ้านเมืองของพวกเขาอย่างไร  ความกระตือรือร้น แรงบันดาลใจ และจิตวิญญาณที่จะสร้างประโยชน์ให้สาธารณะจะกลับมาลุกโชน 

ท่านผู้มีเกียรติครับ บริบทบ้านเมืองในอดีต หล่อหลอมให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เน้นหนักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นเสรี และการต่อสู้นั้น ก็กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อมารุ่นต่อรุ่น 

แต่หากเรามองไปข้างหน้า กับปัญหาใหม่ๆ ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่คงไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอเสียแล้วกับการที่จะช่วยให้ลูกหลานของเราได้มาซึ่งอนาคตที่ดีกว่า 

เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยที่ชาวธรรมศาสตร์ พยายามต่อสู้มาตลอด 88 ปี ผมว่า ชาวธรรมศาสตร์คงจินตนาการไปไม่ถึง และคงไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตย ในversion "แจกกล้วย" เป็นหวีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่อายฟ้าดินอย่างที่เป็นข่าว และถูกใช้เพียงเพื่อเป็นเกราะในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง 

และชาวธรรมศาสตร์คงไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ที่เพียงเอื้ออำนวยให้คนเพียง 1% แต่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศมากกว่า 60% ในขณะที่คนไทย 99% เป็นเจ้าของสินทรัพย์เพียงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบให้สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งวันหนึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติการเมืองครั้งใหญ่ได้ หรือเราจะพอใจกับประชาธิปไตยแบบนี้

แต่เด็กรุ่นใหม่นั้น เขารับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีไฟ แต่เขาไม่สนใจหรอกที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ใช่  เขาจะหันหลังให้เสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาจะกลับมามีความกระตือรือร้น หากเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เขาต้องการ 

ผมเคยถามคนรุ่นใหม่ เขาเรียกประชาธิปไตยที่เขาเห็นตั้งแต่เล็กจนโตว่า 4 second democracy แค่ 4 นาทีที่คุณหย่อนบัตร หลังจากนั้นก็หมดไป แต่เขาต้องการสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า deliberative democracy ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ได้ร่วมถกแถลงในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ หาข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่าง นั่นแหละคือ สิ่งที่จะทำให้พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจในการต่อสู้และเข้าร่วมอย่างแข็งขัน 

เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ไปถึงจุดนั้น จุดที่ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนไม่ใช่ของกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่ม หรือครอบครัวไม่กี่ตระกูล

แต่ที่สำคัญที่ผมต้องการจะบอกก็คือ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่มิติเดียวที่เราอยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้าไปต่อสู้ หรือ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน แต่ยังมีอีกหลายมิติที่พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญอันยิ่งใหญ่ ในการสร้างกระแสคลื่นแห่งการขับเคลื่อน เพื่อแก้ไข และสร้างอนาคตที่ดีกว่าเพื่อพวกเขาเอง

อาทิ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีผลกระทบต่อชีวิตของลูกหลานไทยอย่างรุนแรง และพวกเขาต้องเผชิญกับมันในอนาคต หรือในทางเศรษฐกิจ ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหา และจะรุนแรงขึ้น ทั้งภาวะชะงักงัน และการทะยานของระดับราคา

โครงสร้างเศรษฐกิจบ้านเราที่อิงหนักมาก กับปัจจัยภายนอก ไม่ว่าส่งออก ท่องเที่ยว หรือการลงทุนจากต่างประเทศ ย่อมจะถูกกระทบแน่นอน และจะส่งผลถึงการเติบโต และการสร้างรายได้ของคนในประเทศ หากเรายังไม่เร่งดำเนินรอยตามคำสอนของในหลวงท่านที่ให้ระเบิดจากภายใน นั่นคือ สร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดการขยายตัว สร้างงานสร้างรายได้ควบคู่การอาศัยแรงหนุนจากภายนอก การเปลี่ยนแปลงโหมดแห่งการพัฒนา ต้องการพลังที่ยิ่งใหญ่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนในภาคชนบท และขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการ 

ดัชนีความสามารถแข่งขันของประเทศที่ลดลงแบบฮวบฮาบอย่างไม่เคยปรากฏ ที่ความสามารถด้านเศรษฐกิจจะลดลงทีเดียว 13 จุด ประสิทธิภาพรัฐบาลลดฮวบปีเดียวถึง 11 จุด ขณะที่ประสิทธิภาพภาคเอกชนลดลงถึง 9 จุด สะท้อนความเป็นจริงว่า เราอ่อนแอลงแค่ไหนในเวลาอันสั้น ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่มีใครสนใจ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้จะส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศแน่นอน ในระยะเวลาอันใกล้ แต่ที่หนักที่สุดก็คือ ปัญหาความไม่เท่าเทียม เหมือนระเบิดที่รอเวลาเท่านั้น

จากสถานภาพที่ยากลำบากในการดำรงชีพ และหนี้สินที่เพิ่มทวีของประชาชนหลังการแพร่ระบาดของโควิด ประชาชนในระดับชนชั้นกลาง และในระดับฐานรากของประเทศ ตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง และสุ่มเสี่ยงต่อสถานะการดำรงชีพในอนาคต โดยที่ไม่มีหลักประกัน เกษตรกรและเกษตรกรรมของประเทศ กำลังเผชิญกับความผันผวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของสภาวะอากาศและภัยธรรมชาติที่หนักขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน 

แรงงานทั้งระบบกำลังเผชิญความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ การถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ในขณะที่การเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ 
ปัญหาเหล่านี้ทุกคนทราบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่เพียงพอทั้งๆ ที่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเริ่มเผชิญกับมันแล้ว นี่ยังไม่นับความไม่เท่าเทียมด้านสังคมอื่นๆ ทั้ง การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล รวมไปถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ และผู้ด้อยโอกาสที่รอรับการดูแลแก้ไข

ท่านผู้มีเกียรติครับ 

ภารกิจและบทบาทหน้าที่จะแก้ไขนั้นเป็นของใคร ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ขนาดนี้ สั่งสมนานขนาดนี้ รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที ที่เห็นนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก เพราะข้อจำกัดมันมาก แล้วถ้าทำไม่ได้ ประชาชนนั่นแหละคือ ผู้รับเคราะห์ 

ในเมื่อบริบทยังมีปัญหาอยู่ เราจะมัวรอภาครัฐอยู่คงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันแก้ไข และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันศึกษา ที่จากนี้ไปจะไม่สามารถอยู่อย่างแยกส่วนกับปัญหาบ้านเมืองได้อีกแล้ว สถาบันศึกษาเป็นบ่อเกิดของความรู้และปัญญา ทรัพยากรจึงต้องจัดสรรและขับเคลื่อน ให้ได้ปัญญาที่แท้จริง ที่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ 

การแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับโลก เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าขาดความสนใจสร้างปัญญา และใช้ปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นจริงในบ้านเรา ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น สถาบันการศึกษายังเป็นแหล่งผลิตบุคลากรในหลากหลายสาขา สถาบันศึกษาต้องไม่ใช่เพียงการรับเด็กนักศึกษาและสอนเด็กให้จบออกไปใน 4 ปี เพื่อประกอบอาชีพทำมาหากินเท่านั้น

แต่จะต้องตระเตรียมสร้างบุคลากรในสาขาที่บ้านเมืองต้องการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้  ที่สำคัญที่สุด ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการปลูกฝังจิตสำนึกและแรงบันดาลใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแก้ไขและกอบกู้ในหลากหลาย 1 มิติ

สถาบันศึกษาสามารถกระตุ้นส่งเสริม และปลูกฝังให้นักศึกษา เป็นผู้นำในบทบาทแห่งการขับเคลื่อนได้เลยตั้งแต่พวกยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และต้องให้จิตวิญญาณนี้แพร่ขยายออกไปให้สังคม สร้างความตื่นตัว และร่วมมือในวงกว้าง คู่ขนานไปกับบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว นี่คือบทบาทของธรรมศาสตร์และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่จะต้องก้าวนำการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปบ้านเมืองในยุคข้างหน้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์