"อภิสิทธิ์" ถาม "นายกฯ" จะบริหารประเทศอย่างไร หาก "หนีตอบกระทู้สด"

"อภิสิทธิ์" ถาม "นายกฯ" จะบริหารประเทศอย่างไร หาก "หนีตอบกระทู้สด"

"อภิสิทธิ์" แนะ สภา ทบทวนการทำงาน อย่าเป็นตรายางให้รัฐบาล ถาม "ประยุทธ์" จะบริหารประเทศอย่างไร หากยังเบี้ยวตอบกระทู้สด "วันนอร์" แนะยก ครม.มาทำงานสภา วันมีประชุม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีเสวนา  เรื่อง 90 ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง  เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีรัฐสภาไทย ถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.หลีกเลี่ยงการตอบกระทู้ถามสดของ ส.ส.  และรับไม่ได้ที่ถูกตำหนิจากนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา คนที่หนึ่ง ว่าการตำหนิของนายสุชาตินั้นยังเบาไป เพราะตนมองว่าการตั้งกระทู้ถามสดของส.ส. ไม่ใช่การนึกสนุกจะถาม แต่ได้กำหนดวัน และเวลา ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นหากรัฐบาลไม่สามารถบริหารเวลา ใน 1 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง จะบริหารประเทศอย่างไร

 

 "ประเทศในระบบสภา ประชาชนจะรู้สึกผูกผันกับสภา เพราะผู้บริหารประเทศต้องบอกกับตัวแทนประชาชนตลอดเวลา ปัญหาตอนนี้มีแนวคิดอย่างไร มีวิธีอย่างไร ฟังวิธีทางเลือกที่ดีกว่าจากฝ่ายค้านหรือไม่ แต่ตอนนี้ เวทีสภา เหมือนมีเฉพาะเทศกาลไม่ไว้วางใจ และงบประมาณ ปีละ 2 ครั้งที่มาตอบได้ ทั้งนี้ฝ่ายบริหารมีลักษณะครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติมากไป ดังนั้นสภา ควรทบทวนการทำงาน  โดยเฉพาะตามความเชื่อว่าระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารมีเสียงข้างมาก ส.ส.ทุกคนแตกแถวไม่ได้ ต้องตามวิปทุกเรื่อง เพราะจะเป็นการลดบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในระยะหลังเห็นร่างกฎหมายของส.ส.พิจารณามากขึ้น ทั้งนี้ไม่ทราบว่ารัฐบาลไม่มีกฎหมายเสนอหรือไม่ อย่างไรก็ดีนายกฯ ไม่ยอมลงนามกฎหมายภาคประชาชนเข้าสภาฯ  สำหรับงานด้าน    การออกกฎหมายตนมองว่าสถาบันพระปกเกล้าต้องช่วยเหลือฝ่ายนิติบัญญัติในการเป็นแหล่งข้อมูลของฝ่ายนิติบัญญัติ แทนการเน้นจัดหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้มแข็งเป็นที่พึ่งที่หวัง สามารถมีองค์ความรู้เขียนกฎหมายได้ ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้   ทั้งนี้ตนมีคำถามไปยังวุฒิสภาว่าที่มาของวุฒิสภาซึ่งมีทั้งเลือกตั้ง แต่งตั้ง คัดสรร และผูกผสม แต่บอกไม่ได้ว่า ส.ว.ทำอะไรที่ส.ส.ทำไม่ได้บ้าง จะกลายเป็นปัญหาว่าสภาตามระบอบประชาธิปไตย แต่ ส.ว. ไม่ยึดโยงประชาชน มีอำนาจเกินพอดี และถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรได้

 

 

            นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการตอบกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเหตุผลที่ไม่มาตอบ เพราะเป็นเรื่องของเทคนิค ต้องมอบคนอื่น ทั้งนี้ตนมองว่าเวทีสภา​ ไม่ใช่ที่ลองภูมิ หรือเรื่องเทคนิค แต่การตั้งกระทู้ถามสดคือ ต้องการทราบหลักคิดการบริหารประเทศให้เจ้าของประเทศทราบว่า เรื่องเศรษฐกิจ ข้าวของแพง รัฐบาลคิดอะไร ตรวจสอบได้  ดังนั้นตนจึงขอยืนยันว่าหลายเรื่องต้องปรับปรุงวัฒนธรรมทางการเมือง  นักการเมืองความรับผิดชอบทางการเมืองสำคัญมากกว่ากฎหมาย เพื่อรักษาศรัทธาของนักการเมือง และฝ่ายนิติบัญญัติ

            “เพื่อนๆ ของเราอยู่สภามานาน พอเป็นรัฐมนตรีหาตัวไม่เจอ ไม่มาสภา ผมมองว่าผิดตั้งแต่หลักคิด ดังนั้นต้องย้อนกลับมาว่า ผมตอนเป็นนายกฯ มาสภาไม่ขาด เคยฟังฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องร่างกฎหมายเมื่อฟังเหตุผลแล้วดีกว่า จึงขอถอดกฎหมายของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นสภาจะกลายเป็นตรายางรองรับเสียงข้างมากฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ในต่างประเทศรัฐมนตรีที่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกไม่ใช่ว่าทำผิด แต่เพื่อให้กระบวนการ การเมืองเดินหน้า และประชาชนศรัทธา แต่เราหลงทางบอกว่าเรื่องใดที่บอกว่าผิดให้ไปพิสูจน์ตามกฎหมาย และจะส่งให้ศาลตรวจสอบวินิจฉัยจริยธรรม ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

\"อภิสิทธิ์\" ถาม \"นายกฯ\" จะบริหารประเทศอย่างไร หาก \"หนีตอบกระทู้สด\"

 

            นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประชาชนมองว่าสภาวุ่นวาย ทะเลาะกัน แต่สภาที่เรียบร้อย เสนอทุกอย่างผ่านหมดมีแค่สภาเผด็จการ ดังนั้นสภาประชาธิปไตยต้องถกเถียง ตั้งคำถาม สร้างความเข้าใจกับประชาชน  ทั้งนี้ประชาชนมองสภาทางลบ อยากให้สภาทำงานเหมือนระบบราชการ  มองผลงานสภาคือ จำนวนของกฎหมาย แต่ตนมองว่าปริมาณไม่สะท้อนคุณภาพงานนิติบัญญัติ ดังนั้นสิ่งที่จะสะท้อนได้คือ สภาที่รับฟังประชาชนสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ผ่านการทำหน้าที่ 

 

            ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวโดยเสนอว่าวันที่สภา มีประชุม ขอให้ ครม. ยกคณะมาทำงานที่สภา เพราะรัฐสภาแห่งใหม่มีห้องทำงานจำนวนมาก เพื่อให้ฝ่ายบริหารไม่มีข้ออ้างต่อความรับผิดชอบต่อสภา 

 

          "หากรัฐบาลมาจากสภา แล้วไม่สนใจสภา จะอยู่ได้อย่าง ทั้งนี้ประธานรัฐสภาคือ คนแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นสภา มีความสำคัญกว่าฝ่ายบริหาร ดังนั้น กระทู้สดจะมอบให้คนอื่นมาตอบ ไม่มาแล้วเลื่อนออกไปไม่ได้" อดีตประธานรัฐสภา กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์