“ชัชชาติ” แจงบ้านที่สหรัฐซื้อมา 40 ล้านบาท เงินจากที่ดินมรดก แจ้ง ป.ป.ช.แล้ว

“ชัชชาติ” แจงบ้านที่สหรัฐซื้อมา 40 ล้านบาท เงินจากที่ดินมรดก แจ้ง ป.ป.ช.แล้ว

“ชัชชาติ” ยอมรับมีบ้านที่ซีแอตเทิล สหรัฐ จริง แต่โอนให้ “ลูกชาย” ไปแล้ว เผยซื้อมาสมัยหลังละ 40 ล้านบาท ได้เงินเมื่อ 7 ปีก่อนจาก “มรดก” ขายที่ดินแถวพระราม 4 แบ่งกับ “พี่ชาย” ด้วย แจ้ง ป.ป.ช. ไปแล้ว เผยทรัพย์สิน 7 ปีก่อน 106 ล้านบาท มีที่ดิน 2 แปลง 55 ล้าน

กรณีโลกออนไลน์แชร์ข้อมูลอ้างว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) มีบ้านพักในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เป็นบ้านหลังใหญ่ขนาด 2 ชั้น พื้นที่ 3250 ฟุต 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ด้านหน้า และบริเวณโดยรอบมีสนามหญ้าและต้นไม้ โดยบ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่าถึง 72 ล้านบาท จนถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากนั้น

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ว่า ในเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน บ้านนี้เป็นของลูกชายคือ นายแสนปิติ สิทธิพันธุ์ หากย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน ตนได้รับที่ดินมรดกแถวพระราม 4 แบ่งกับพี่ชาย (ฉันชาย สิทธิพันธุ์) คนละครึ่ง (คนละไร่) โดยในเรื่องนี้ชี้แจงไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชัดเจน และโอนให้ลูกชายในทันทีเพราะอยากให้ลูกชายได้มีทรัพย์สินในอนาคต ต่อมามีคนไปขอซื้อจึงได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวไป โดยตนเองเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน และได้เงินมาก้อนหนึ่งมีมูลค่าพอสมควร

“ชัชชาติ” แจงบ้านที่สหรัฐซื้อมา 40 ล้านบาท เงินจากที่ดินมรดก แจ้ง ป.ป.ช.แล้ว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า โดยช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่นายแสนปิติไปเรียนที่อเมริกา ตนเองได้วิเคราะห์ว่าในตอนนั้นอสังหาฯ ที่อเมริกาไม่แพงมาก ประกอบกับตอนนั้นดอกเบี้ยต่ำ จึงใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปซื้อบ้านหลังดังกล่าว ตอนนั้นมูลค่าบ้านอยู่ที่ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นราคาที่ไม่ได้แพงมากสำหรับสถานการณ์ตอนนั้นเทียบกับดอกเบี้ย และต้องใส่เป็นชื่อของภรรยาตนเอง เพราะลูกชายยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยการซื้อบ้านเพราะต้องการให้ลูกชายได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และภรรยาของตนเองก็ไปดูแลลูกชายที่นั่น

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า พอลูกชายเรียนจะจบจึงคิดว่าอยากจะขายบ้านดังกล่าว จึงได้ไปศึกษากฎหมายของซีแอตเทิล ทีมปรึกษากฎหมายแนะนำว่าให้โอนบ้านเป็นชื่อลูกชายดีกว่าเพราะเป็นเรื่องการนับระยะเวลาของการอยู่ในบ้าน จะเสียภาษีถูกกว่า จึงได้ทำเรื่องโอนไปตามปกติ มีหลักฐานชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ทางออนไลน์อยู่แล้ว ลูกชายก็เป็นเจ้าของบ้านตัวจริงด้วย เพราะใช้เงินของเขาซื้อ เป็นเรื่องตรงไปตรงมา เรื่องนี้ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมากเพราะจากบ้านราคา 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาในราคา 2 ล้านกว่าดอลลาร์ เป็นการบริหารจัดการได้ดี

“ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ได้ชี้แจง พร้อมยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีอะไร มีหลักฐานชัดเจน ตั้งแต่การยื่น ป.ป.ช. เรื่องที่ดิน หลักฐานการโอนที่ดินให้ลูกชาย หลักฐานว่าศาลให้เราดูแลเงินก้อนนี้ให้ลูกชายเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ และการซื้อก็มีการโอนเงินมามีชื่อปรากฏอยู่ สามารถตรวจสอบได้ซื้อเท่าไร และบ้านดังกล่าวตอนซื้อไม่ได้ซื้อ 70 ล้านบาท แต่ซื้อที่ราคาอยู่ที่ 40 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับเงินที่เป็นของลูกชายที่ขายที่ดินได้จากมรดกมีเหลือเยอะกว่านี้อีก ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งการที่ไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้เพราะช่วง 8 ปีที่ผ่านมาตนเองไม่ได้อยู่ในการเมือง” นายชัชชาติ กล่าว

  • ยลโฉมทรัพย์สิน 7 ปีก่อน 106 ล้าน - แจ้งที่ดินมรดกมารดา 55 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2558 หรือราว 7 ปีก่อน พบว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 106,309,812 บาท ไม่มีหนี้สิน แบ่งเป็น

นายชัชชาติ มีทรัพย์สิน 73,295,186 บาท ได้แก่ เงินฝาก 10,182,723 บาท เงินลงทุน 1,187,163 บาท ที่ดิน (จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 0-3-10 ไร่ มารดาเป็นผู้ยกให้) 55,145,000 บาท บ้าน 2,820,300 บาท รถยนต์ 1.9 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 2,060,000 บาท ไม่มีหนี้สิน

มีรายได้ต่อปีโดยประมาณ 2,625,899 บาท เป็นเงินเดือน และเงินปันผล-ดอกเบี้ยโบนัส มีรายจ่ายรวม 2,577,870 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต

ส่วน นางปรมินทร์ทิยา สิทธิพันธุ์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 33,014,626 บาท ได้แก่ เงินฝาก 19,186,009 บาท เงินลงทุน 10,138,616 บาท ที่ดิน 6 แสนบาท รถยนต์ 2.2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 8.9 แสนบาท ไม่มีหนี้สิน

มีรายได้ต่อปีโดยประมาณ 1,121,903 บาท เป็นเงินเดือน 6 แสนบาท เงินปันผล-ดอกเบี้ยโบนัส 521,903 บาท มีรายจ่าย 9.6 แสนบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต และค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนี้บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะยังมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน 618,200 บาท

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์