"ไพศาล" ชี้ คดี "สุนทร" ฟ้องศาลฎีกาฯนักการเมือง ได้ เหมือน "ยิ่งลักษณ์"

"ไพศาล" ชี้ คดี "สุนทร" ฟ้องศาลฎีกาฯนักการเมือง ได้ เหมือน "ยิ่งลักษณ์"

“ไพศาล" เผย "สุนทร" ทำผิดรุกป่าเขาใหญ่ ปี45 ตอนเป็น ส.ส. ฟ้องศาลฎีกานักการเมือง ได้ โดยไม่ต้องได้ตัวผู้ต้องหาส่งฟ้อง ชี้ เหมือนคดี "ยิ่งลักษณ์" เตือน อัยการ ระวังฟ้องผิดศาล ระบุ แม้คดีหมดอายุความ แต่ถ้ายังครอบครองที่ดิน ก็มีความผิดต่อเนื่อง

นายไพศาล พืชมงคล นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกรณีการนำตัวนายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี เพื่อนำตัวไปยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยที่อายุความภายในวันนี้ (13 มิ.ย.65) ว่า จากที่ติดตามทราบว่านายสุนทร ถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 3 ข้อหา แบ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวม 2 ข้อหา หมดอายุความแล้ว 1 คดี และจะหมดอายุความในวันนี้อีก 1 คดี และอีก 1 ข้อหาเกี่ยวกับการบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่จะหมดอายุความวันนี้ ซึ่งตนเห็นไปในทิศทางเดียวกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย ที่ว่า คดีการบุกรุกถือครองที่ดินถือเป็นการกระทำต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังครอบครองอยู่ก็ยังมีความผิดต่อเนื่อง แม้ในวันที่ไปแจ้งความดำเนินคดีจะครบ 20 ปีจนขาดอายุความจริง แต่หาก ป.ป.ช.เห็นว่า การการครอบครองบุกรุกนั้นต่อเนื่องก็เท่ากับว่า สามารถนำขึ้นมาทบทวนการแจ้งข้อหา และทบทวนเรื่องอายุความได้

นายไพศาล กล่าวว่า ถ้า ป.ป.ช.เห็นเอง หรือมีผู้ไปร้องว่า นายสุนทรยังมีความผิดครอบครองบุกรุกต่อเนื่องหลังจากวันที่แจ้งดำเนินคดีครั้งแรก ป.ป.ช.ก็สามารถไต่สวนเพิ่มเติมได้ โดยใช้เวลาไม่นาน และลงมติชี้มูลความผิดยืนยันส่งฟ้องได้เช่นเดิมภายในอายุความใหม่ 

นายไพศาล ยังตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นอำนาจของศาลด้วยว่า การทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐมี 2 ระดับ ถ้าเป็นระดับ ส.ส.และรัฐมนตรี จะต้องฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปฟ้องศาล แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐก็จะต้องฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องมีตัวผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาล มิฉะนั้นก็ฟ้องไม่ได้ ตรงนี้ต้องกลับไปดูว่าในขณะกระทำความผิดถูกแจ้งความดำเนินคดีช่วงปี 45 นั้น นายสุนทรดำเนินตำแหน่งใดอยู่ หากขณะนั้นนายสุนทรเป็น ส.ส. คดีนี้ก็จะไปอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถฟ้องคดีได้แม้จะไม่มีตัวผู้กระทำผิดมาส่งฟ้องก็ตาม แต่หากนายสุนทร ดำรงตำแหน่งอื่นในขณะกระทำผิด ก็ต้องไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา คดีทุจริต ที่กำหนดว่าต้องนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องด้วย 

นายไพศาล ระบุว่า ดังนั้น อัยการที่รับผิดชอบคดีของนายสุนทร ต้องทบทวนให้รอบคอบว่า ที่จะส่งนายสุนทรต่อศาลอาญาคดีทุจริต เพราะถือว่าฐานะในวันนี้ที่นายสุนทรเป็นนายก อบจ.หรือไม่ เพราะต้องถือ ณ ขณะทำความผิดว่านายสุนทรดำรงตำแหน่งใด อัยการต้องกลับมาดูว่า ณขณะทำความผิดว่านายสุนทรเป็น ส.ส.หรือนายก อบจ. ถ้าเป็น ส.ส.แล้วจะไปฟ้องต่อต่อศาลอาญา คดีทุจริต ก็เท่ากับผิดศาล และถ้าเป็น ส.ส.ก็ไปฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหา เหมือนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แม้ตัวไม่อยู่ ก็สามารถฟ้องได้ เพราะศาลฎีกาฯมีข้อกำหนดอยู่