ตีกลับ “เรือดำน้ำ-โดรนยูเอวี” ลุ้นด่าน“ฝ่ายค้าน-พี่น้อง 2 ป.”

ตีกลับ “เรือดำน้ำ-โดรนยูเอวี” ลุ้นด่าน“ฝ่ายค้าน-พี่น้อง 2 ป.”

ข้อยุติ "เรือดำน้ำ" ขาดเครื่องยนต์ คงต้องใช้เวลาอีกระยะ โดยยึดหลักบันได 3 ขั้น สัญญา ความตกลงใจร่วม และ เสนออัยการสูงสุด หากปรับแก้หรือยกเลิกสัญญา ก่อนเสนอ ครม. ส่วน "ยูเอวี" ก็ต้องตามลุ้นว่า "บิ๊กช้าง" ให้ผ่านหรือไม่

สถานการณ์ “กองทัพเรือ” ขณะนี้น่าจะตรงกับสุภาษิตที่ว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก กับ 2 โครงการที่ยังจบไม่ลงทั้ง “เรือดำน้ำ”ลำแรก ขาดเครื่องยนต์ และโครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน (UAV ) แบบเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกล หรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance) มูลค่า 4,100 ล้านบาท

เรียกได้ว่า อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับ “เรือดำน้ำ” ลำแรกขาดเครื่องยนต์ สุดท้ายแล้วบทสรุปจะนำไปสู่การยกเลิกสัญญา และบริษัท CSOC ของจีนต้องจ่ายค่าปรับให้ไทย หรือเปลี่ยนแบบเครื่องยนต์ใหม่ แต่ต้องเทียบเท่ากับเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมัน

การหารือระหว่าง “กองทัพเรือไทย” โดย พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเรือดำน้ำ และผู้แทนบริษัท CSOC เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เป็นการพูดคุยแบบม้วนเดียวจบ คาดว่าอาจต้องใช้เวลาหลายวันถึงจะรู้ผล

เพราะตามกำหนดการ ตัวแทนบริษัท CSOC จะพักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพราะการเดินทางมาครั้งนี้ นอกจากหารือเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำแล้ว ยังมาติดตามความคืบหน้าท่าจอดเรือดำน้ำ และสถานีสื่อสาร(ดาวเทียม)ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

แต่สิ่งหนึ่งที่มีความชัดเจน คือการเจรจาระหว่างจีนกับเยอรมัน เพื่อขอซื้อเครื่องยนต์ MTU396 มาติดตั้งในเรือดำน้ำไทยล้มเหลว และมีการเสนอแบบเครื่องยนต์ใหม่ให้ “กองทัพเรือ” พิจารณา

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท CSOC ได้ส่งแบบเครื่องยนต์มาให้ “กองทัพเรือ” พิจารณา และยืนยันถึงประสิทธิภาพว่า เทียบเท่ากับ MTU396 แต่หลังจากกรมอู่ทหารเรือไทยได้วิเคราะห์สเปก และองค์ประกอบต่างๆ ก็ได้คำตอบว่า 

“ยังไม่มีอะไรมาการันตีว่าเครื่องยนต์แบบใหม่ จะดีกว่าหรือเทียบเท่าเครื่องยนต์ของเยอรมนี จนเป็นที่ยอมรับ”

จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญว่า การเจรจาครั้งนี้ บริษัท CSOC จะสามารถทำให้ กองทัพเรือไทย เชื่อมั่นได้หรือไม่ว่า เครื่องยนต์ที่เสนอมานั้นเทียบเท่ากับ MTU396 ที่กองทัพเรือไทย คุ้นเคย จนตกลงยอมเปลี่ยน เพราะต้องไม่ลืมว่า เกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของกำลังพล หากเกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเครื่องยนต์ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่ครั้นจะยกเลิกสัญญา ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ง่ายๆ เพราะการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ต้องเป็นการตกลงใจ และยินยอมร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ในขณะที่บริษัท CSOC ได้ต่อเรือไว้เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่จะยอม และจ่ายค่าปรับให้ไทยซึ่งเป็นวงเงินจำนวนไม่น้อย

จึงคาดการณ์ว่า การหาข้อยุติ เรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ โดยยึดหลัก 1.สัญญา 2.ความตกลงใจร่วม และ 3 เสนออัยการสูงสุด หากต้องปรับแก้หรือยกเลิกสัญญา จากนั้นเสนอต่อ ครม.ในการพิจารณาต่อไป

อีกเรื่องร้อน ไม่แพ้ “เรือดำน้ำ”ลำแรก โครงการจัดหาอากาศยานไร้นักบิน (UAV ) แบบเพดานบินปานกลาง ระยะบินไกล หรือ MALE (Medium-altitude Long-endurance) มูลค่า 4,100 ล้านบาท ที่กองทัพเรือ ได้เลือกแบบ Hermes 900 อิสราเอล นำเสนอไปยังกระทรวงกลาโหม รอการอนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 ที่ผ่านมา

ปรากฎว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ โดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้ลงมาดูโครงการดังกล่าว ด้วยตัวเอง และส่งกลับกองทัพเรือ ให้นำไปพิจารณาใหม่ ตั้งแต่การเลือกแบบ Hermes 900 อิสราเอล โดยให้ไปดูเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ รวมถึงประเด็นต่างๆที่ถูกฝ่ายค้านท้วงติง

“พล.อ.ชัยชาญ ไม่ให้ผ่าน และยังไม่นำเข้า ครม. โดยบอกให้กองทัพเรือไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะนี้ก็กำลังพิจารณากันอยู่ ยังไม่ได้ข้อยุติ” แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุ

โดยก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้าน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส และความไม่ชอบมาพากลโครงการจัดหา UAV ของกองทัพเรือหลายกรณี ทั้งการเปลี่ยนแบบ UAV ของประเทศจีน เป็น UAV ของประเทศอิสราเอล ที่กองทัพเรือต่างประเทศไม่นิยมใช้ มีสถิติการตกบ่อย และซื้อในราคาแพง

ต่อมา พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ได้ชี้แจง และสรุปใจความได้ว่า โครงการจัดหา UAV ได้เปิดให้ 5 บริษัท จาก 4 ประเทศ สหรัฐฯ อิสราเอล ตุรกี และจีน เข้ามายื่นข้อเสนอ และเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยการจัดหาได้ยึดและถือปฎิบัติตาม พ.ร.บ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

ส่วนสถิติการตกบ่อยมากนั้น จากการตรวจสอบทราบว่า ข้อมูลที่นำมากล่าวอ้าง เป็นอากาศยานไร้คนขับ แบบ Hermes 900 HFE (High Fuel Engine) รุ่น Star Liner ของบริษัท ELBIT รัฐอิสราเอล ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบพื้นฐานของ Hermes 900 และไม่ได้เกิดจากปัญหาเครื่องยนต์

เป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า “กองทัพเรือ” จะหาทางออก เรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ และโครงการจัดหา UAV ในรูปแบบใด ที่ทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการตอบคำถามสังคม และผ่านความเห็นชอบของพี่น้อง 2 ป. ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ