"ภาคีสื่อออนไลน์เด็ก" หนุน "รัฐบาล" เอาจริงปราบภัยออนไลน์-ออกกฎหมายควบคุม

"ภาคีสื่อออนไลน์เด็ก" หนุน "รัฐบาล" เอาจริงปราบภัยออนไลน์-ออกกฎหมายควบคุม

"นักวิชาการด้านเด็ก" เสนอ "รัฐบาล" ประกาศสร้างสรรค์พื้นท่ีสำหรับเด็กเป็นวาระแห่งชาติ หนุน เอกชน-ภาคีสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สื่อดีสำหรับเด็ก-ออกกฎหมายกันเด็กจากภัยออนไลน์

                  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานแถลงผลงานของวุฒิสภา ครบรอบ 3 ปี  มีการสัมมนากลุ่มย่อย ว่าด้วย สื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ในหัวข้อ  3 ปีของวุฒิสภา 3 ปีของนโยบายและปฏิบัติการทางสังคมเพื่อการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชน จัดโดยคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ภายใต้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

 

         ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าวข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับงานด้านการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชนที่ได้รับรองเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 เรื่อง

 

         โดย ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ  หัวหน้าภาควิชการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและขยายสื่อดีสำหรับเด็ก เยาาวชนและครอบครัว ว่า รัฐบาลต้องเร่งประกาศเป็นวาระแห่งชาติ มีคณะกรรมการกลางเพื่อทำงานที่จริงจัง ต่อเนื่อง ขณะที่ กสทช. ต้องกำกับดูแลให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดำเนินการตามประกาศหรือแนวปฏิบัติเรื่องสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ครอบครัว จริงจัง แต่หากไม่เหมาะสมควรรื้อและทำให้เกิดรูปธรรม นอกจากนั้นต้องจัดตั้งสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็ก  และรัฐบาลต้องส่งเสริมนโยบายการอ่าน

 

         “พื้นที่กิจกรรมของเด็กมีความสำคัญ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ดำเนินการ นอกจากนั้นต้องมีนโยบายส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการให้แหล่งทุนเพื่อส่งเสริมสื่อสำหรับเด็ก และมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น ลดหย่อนภาษี สำหรับเอกชน หรือ ผู้ที่สนับสนุนสื่อของเด็ก จะทำให้มีภาคประชาชนทำซีเอสอาร์มากขึ้น” ดร.มรรยาท กล่าว

 

         ดร.มรรยาทย้ำด้วยว่า เพิ่มพื้นที่คุณภาพของสื่อสำหรับเด็ก คำนึงถึงความหลากหลาย ทั้งเนื้อหา และแพลตฟอร์มการนำเสนอ รวมถึงเด็กมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาสื่อที่ดีที่เหมาะสม และที่สำคัญต้องมีนโยบายสำหรับเด็กที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีผลกระทบต่อการสื่อแต่เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐจะทำให้การสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับเด็กเกิดขึ้นได้

 

         ขณะที่ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวข้อเสนอการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างความรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ว่า จากผลการวิจัยพบว่าการเล่นเกมในเด็กนั้นที่เล่นเกมแล้วจะประสบความสำเร็จมีอาชีพมีรายได้ เพียง 10%  ส่วนที่เหลือกว่า 60% คือ เด็กติดเกม มีปัญหาทางอารมณ์ดังนั้นต้องสื่อสารให้เด็กได้เข้าใจ ดังนั้นตนมีข้อเสนอคือ

         1.ต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ทุกทุกมิติ เพื่อให้สังคมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

         2.สร้างการพัฒนาบุคคล และความตระหนักสาธารณะ

         3.สร้างพื้นที่สร้างสรรค์และสื่อสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กมีทางเลือกและทางออก

         และ  4.มีมาตรการกลไกกำกับและกฎหมายที่จำเป็น โดยเฉพาะการยกร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ขณะเดียวกันต้องกฎหมายกำกับดูแลเกมและประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะนี้ผลักดันให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาแล้ว  

         ทางด้าน นายธนวัน ทองสุกโชติ ที่ปรึกษาสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ว่า วัยเด็ก จะติดการพนันได้ง่ายกว่าวัยผู้ใหญ่สูงถึง 3-4 เท่า และพฤติกรรมติดเกม ติดการพนัน องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นความผิดปกติทางสมอง  ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมพบว่าไม่มีเจ้าภาพหลักรับผิดชอบ รัฐไม่จริงจังและมีผลประโยชน์แอบแฝง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาต้องใช้การบูรณาการ จากทุกหน่วยงานของรัฐและเอกชนรวมถึงและสร้างเครือข่าย ส่งเสริมความร่วมมือของภาคีระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริม ป้องกันและลดผลกระทบ โดยมีหน่วยงานรัฐ สื่อ ผู้ประกอบการ ให้ความร่วมมือ

\"ภาคีสื่อออนไลน์เด็ก\" หนุน \"รัฐบาล\" เอาจริงปราบภัยออนไลน์-ออกกฎหมายควบคุม

         ส่วน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิออินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกฎหมาายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ว่า สถานการณ์ภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน  พบว่ามีจำนวนมากขึ้น และพบว่าสื่อออนไลน์ถูกใช้เพื่อหลอกเด็ก หวังละเมิดทางเพศ คุกคาม แม้หน่วยงานจะทำงานกับเยาวชน เพื่อให้รู้เท่าทัน แต่พบว่าไม่สามารถประสบความสำเร็จ ซึ่งในปี 2020 พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับท้ายในการจัดอันดับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภัยออนไลน์ ขณะที่หน่วยงานของรัฐมุ่งการให้อินเทอร์เน็ตลงสู่ชุมชน กลับพบว่ากลายที่เด็กรวมตัวใช้สื่อออนไลน์ไร้ทิศทางและควบคุม

 

         “ข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายอาญาให้มีประสิทธิภาพ เท่าทันสถานการณ์ เพราะตามกฎหมายปัจจุบันพบว่าต้องให้มีการกระทำผิดและแจ้งความ ดังนั้นข้อเสนอคือ ต้องมีกฎหมายที่ครอบคลุมภัยออกนไลน์ที่กำลังคุกคามเด็ก หรือ กำลังล่อลวงเด็ก นอกจากนั้นกฎหมายที่บังคับใช้ต้องบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลผู้กระทำผิดเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม เพราะพบว่ามีคนที่กระทำผิด พ้นโทษแล้วไปกระทำผิดซ้ำ ขณะเดียวกันต้องมีฐานข้อมูลเหยื่อและผู้เสียหาย เพื่อให้ติดตามและเยียวยา” ดร.ศรีดา กล่าว

 

         ดร.ศรีดา กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นควรมีมาตรการด้านสังคม เพื่อให้มีคนรอบข้างเด็ก โรงเรียนมีองค์ความรรู้เกี่ยวกับการสอดส่องดูแลภัยออนไลน์ เพื่อให้เด็กปลอดภัย นอกจากนั้นสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมพื้นที่สร้างสื่อที่ดี สื่อสร้างสรรค์ และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่ช่วยดูแลเด็ก ไม่ละเมิดเด็ก  นอกจากนั้นต้องการให้มีการกำหนดวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ร่วมกับสากล โดยต่างประเทศกำหนดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ