F-35 เขี้ยวเล็บทัพฟ้า ฝ่าแรงต้านการเมือง

F-35 เขี้ยวเล็บทัพฟ้า ฝ่าแรงต้านการเมือง

“กองทัพอากาศ”กำลังเผชิญกับเสียงคัดค้านจากฝ่ายการเมือง และปัญหาเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า F-35 จะพ่ายแพ้ต่อแรงต้าน เดินตามรอยเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ของกองทัพเรือ หรือไม่

F-35 เครื่องบินรบ เจนเนอเรชั่น 5 ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย สมบูรณ์แบบ ยุทโธปกรณ์เชิงยุทธศาสตร์ ที่ถูกมองไม่จำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ภัยคุกคามจากสงครามขนาดใหญ่รอบประเทศยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น

พลันที่ “กองทัพเรือ” ยอมถอย โครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 กระแสโจมตีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็พุ่งมาที่ “กองทัพอากาศ”หลัง พล.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผบ.ทอ. ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทนเครื่องเก่าจนได้ข้อสรุปเป็น เครื่องบินขับไล่ F-35 ที่ถูกบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566

สำหรับปีนี้ “กองทัพอากาศ” ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 36,112 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วกว่า 1,681 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ เป็นรายจ่ายด้านบุคคลากร เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการต่างๆ และงบเพื่อใช้ในการพัฒนา

ส่วนโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 จำนวน 2 ลำ จากความต้องการ 8-12 ลำ วงเงิน 7,382 ล้านบาท งบผูกพัน 3 ปี (2556-2558)ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 นี้ ได้ตั้งงบไว้เพียง 738 ล้านบาท เป็นงบเริ่มต้น เช่น ปรับปรุงสถานที่ อุปกรณ์สนับสนุนการบิน ค่าเครื่องบินบางส่วน

“กองทัพอากาศ” มีแผนปลดประจำการเครื่องบินรบ 3 ฝูงบิน ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่ F-16 ฝูงบิน จ.นครราชสีมา เครื่องบินมือสองจากสหรัฐอเมริกา จัดหาในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เครื่องบินขับไล่ F-5 ฝูงบิน จ.อุบลราชธานี ที่ใช้งานมากว่า 40 ปี และ อัลฟ่าเจ็ท ฝูงบิน จ.อุดรราชธานี เครื่องบินมือสองจากเยอรมนี

โดย ผบ.ทอ. ได้ตั้งคณะทำงาน พร้อมระดมผู้เชี่ยวชาญของกองทัพอากาศ วิเคราะห์สถานการณ์ด้านความมั่นคง การเมืองภายในและภายประเทศ พบว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากขีดความสามารถกองทัพอากาศลดลง ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศ และอาจเกิดความเสี่ยง หากปลดประจำการเครื่องบินรบ 3 ฝูง โดยไม่จัดหาเครื่องบินฝูงใหม่มาทดแทน

แต่ด้วยปัจจัยด้านงบประมาณที่จำกัด และประเทศอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 จึงเป็นไปได้ยากที่ “กองทัพอากาศ” จะจัดหาเครื่องบินรบทดแทนได้ครบทั้ง 3 ฝูงบิน จึงได้พิจารณาคัดเลือกแบบ โดยเน้นความสามารถ ประสิทธิภาพ 1 ฝูงบิน แต่สามารถทดแทนได้ 3 ฝูงบิน จึงเป็นที่มาของ F-35

“หากเปรียบเทียบ  F-35 จำนวน 1 เครื่อง ทดแทน F -16 จำนวน 3.27 เครื่อง หมายความว่าถ้าในอนาคตเราจะมี  F-35 ในจำนวนที่เหมาะสม ทดแทนของเก่าที่ประจำการมาเป็นยาวนาน อะไหล่หายาก ค่าซ่อมบำรุงสูง 3-5 เท่า หรือเป็นเงิน 700,000-1,000,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง แต่ประสิทธิภาพเท่าเดิม และการเตรียมอาวุธ เราไม่ได้เอาไว้รบกับใคร แต่สิ่งที่ต้องมีคือปกป้องอธิปไตย” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ ทอ. ระบุ

แม้การจัดซื้อ F-35 จะกลายเป็นประเด็นที่ถูกฝ่ายค้านวิพากวิจารณ์อย่างหนัก ในเวทีอภิปรายงบประมาณ 2566 ถึงความเหมาะสม คุ้มค่า และจำเป็นต่อสถานการณ์ประเทศ ที่ถูกนำไปผูกโยงกับความยากลำบากของประชาชนอันผลสืบเนื่องจากโควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อ ที่ดันราคาสินค้า อาหาร พลังงานพุ่งสูง

 แต่ “กองทัพอากาศ” ก็ยังยืนยันภารกิจสำคัญในการปกป้องอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุไว้ และสอดคล้อง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่กำหนดให้กองทัพมีหน้าที่เตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักรท่ามกลางความไม่แน่นอนสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ เพราะการเกิดสงครามไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับกรณี รัสเซีย-ยูเครน

อีกทั้งการจัดซื้อ F-35 อาจต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะผ่านชั้นตอนต่างๆ ทั้งการขออนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐ กระบวนการจัดซื้อ การเจรจาต่อรองราคา การทำสัญญา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะละ 3 ปี จนครบ 12 ลำ ในขณะที่การฝึกนักบินให้เกิดความชำนาญพร้อมปฏิบัติภารกิจ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ปัจจุบันสภาพความพร้อมรบของ “กองทัพอากาศ” มีเครื่องบินรบหลากหลายรูปแบบ แต่เป็นเครื่องบินรบยุค 4.5 และมีจำนวนหนึ่งทยอยปลดประจำการ ส่งผลให้ปี 2568 จะเหลือเครื่องบินรบทั้งหมดประมาณ 112 ลำ ในจำนวนนี้รวม F-35 หากได้รับอนุมัติงบประมาณ 2566

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน “กองทัพอากาศ”กำลังเผชิญกับเสียงคัดค้านจากฝ่ายการเมือง และปัญหาเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า F-35 จะพ่ายแพ้ต่อแรงต้าน เดินตามรอยเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ของกองทัพเรือ หรือไม่