ไม่เข้าเกณฑ์ 5 ข้อ ไม่ใช่ สื่อมวลชน พึงระวัง "PDPA" พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล

ไม่เข้าเกณฑ์ 5 ข้อ ไม่ใช่ สื่อมวลชน พึงระวัง "PDPA" พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล

พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เข้าเกณฑ์ 5 ข้อ ไม่ใช่ สื่อมวลชน ต้องขออนุญาต ละเมิดระวังโทษอาญา-แพ่ง ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท เว้นปีแรก ตักเตือน ทำความเข้าใจ

นาย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เปิดเผยผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึง
เป้าหมายหลักและขอบเขต พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA" ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1มิ.ย.นี้ว่า ขณะนี้มีข่าวลือเป็นจำนวนมากและมีการตีความกฎหมายไปต่างๆนานา ซึ่งทุกอย่างที่เราเคยทำ หากมีกฎหมายรองรับ ก็ยังทำได้ตามปกติ 

เพราะกลไกกฎหมายฉบับนี้ เช่น การนำภาพส่วนบุคคลไปใช้อยู่ในในอินเทอร์เน็ตและเราก็มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ์ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ เรามีสิทธิ์ที่จะขอให้เขาลบ หรือขอตรวจสอบได้ว่าเอาภาพมาจากไหน หากไม่ดำเนินการก็จะมีโทษปรับ 

แต่หากเป็นการถ่ายภาพส่วนตัวในครอบครัวหรือภาพเซลฟี่แล้วไปติดบุคคลที่สาม ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ คำตอบคือไม่ผิด เนื่องจากเราถ่ายเพื่อใช้ส่วนตัว แต่หากมีการนำไปเผยแพร่แล้วทำให้เดือดร้อน เขาสามารถแจ้งให้เราลบรูปภาพได้ จึงไม่ได้เป็นไปตามข่าวลือที่ว่าจะต้องติดคุก

อีกกรณีหนึ่งถ้ามีกล้องวงจรปิดติดที่บ้านต้องมีป้ายบอกโจรด้วยก็ไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องที่เราปกป้องการเกิดอาชญากรรม กล้องวงจรปิดจะถ่ายในบ้าน นอกบ้าน เป็นเรื่องส่วนตัวของเราหรือกล้องหน้ารถก็สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องแจ้งให้ใครทราบว่ารถของเรามีกล้องแต่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อ นำเนื้อหาในกล้องเฉพาะข้อมูลบางส่วนไปใช้ กรณีนี้ไม่ใช่เพื่อส่วนตัวแต่จะผิดกฏหมายทันที

นายไพบูลย์ กล่าวต้องยอมรับว่า มีความเข้าใจผิดในตัวกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างมากหลักเกณฑ์คือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลยังสามารถทำได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงไม่กระทบสิทธิ์คนอื่น ไม่แสวงหากำไร เป็นหลักพื้นฐาน แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามมีสองส่วนนี้เป็นองค์ประกอบ โดยเราไม่รู้  ตัวคนที่ได้รับผลกระทบก็จะแจ้งเรามาว่าให้เราลบภาพ 

ตัวกฎหมายจะมีเนื้อหาที่คุ้มครองมากขึ้นเช่น การนำรูปส่วนตัวของแต่ละคนไปใช้บนอินเทอร์เน็ตซึ่งกฎหมายฉบับนี้ให้คนที่นำไปใช้แจ้งว่า นำรูปภาพนี้มาจากใคร หากไม่ทำจะโดนคดีอาญาและโทษปรับทางการปกครองสูง เช่น 1-5 ล้านบาท

โดยเฉพาะกรณีคอลเซ็นเตอร์ที่ได้รับข้อมูลส่วนตัวของเราไปและสร้างความเดือดร้อนซึ่งกลไกกฎหมายฉบับนี้มาช่วยเรื่องกฎหมายคอมพิวเตอร์พอสมควร เพราะเมื่อโทรมาก็จะมีข้อมูลส่วนบุคคลปรากฏสามารถระบุตัวตนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งตำรวจสามารถดำเนินการตามกฏหมายได้ง่ายขึ้นเพื่อหาต้นทาง เมื่อมีพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็จะเป็นสากล เราสามารถขอข้อมูลข้ามประเทศได้ทุกอย่างก็จะง่ายด้วยตัวกฎหมายฉบับนี้

หลักเกณฑ์เมื่อจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ต้องดูว่ามีกฎหมายให้อำนาจหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องขอก่อน หรือหากใช้ไปแล้วและมีบุคคลได้รับผลกระทบเขาแจ้งมา เมื่อเราลบแล้วทุกอย่างคือจบ ไม่สามารถเอาผิดเราได้ หลักพื้นฐานหากเราถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นความผิดทางแพ่งหรืออาญา หรือ โทษปรับทางการปกครอง ต้องมีเจตนา ถ้าถ่ายรูปครอบครัวแล้วบังเอิญคนอื่นเดินมาติด ก็ได้รับข้อยกเว้นเพราะไม่มีเจตนา  แต่หากเขาได้รับผลกระทบจากการที่เรานำภาพลงโซเชียล เขาก็แจ้งมา เราลบก็จบ

"กฎหมายฉบับนี้ถือว่าใหม่มากและมีผลตอบรับออกมาในทางที่เข้าใจผิด ซึ่งมีการวางหลักเกณฑ์เอาไว้ภายใน1 ปีแรกตั้งแต่ 1 มิ.ย.65-1มิ.ย.66 จะเป็นแนวทางการดำเนินการและทำความเข้าใจ หากเกิดความผิดพลาด จะไม่มีโทษปรับ ขอให้สบายใจ โดยจะเป็นการตักเตือนให้แก้ไข ซึ่งหากมีข้อผิดพลาดไม่ใช่คณะกรรมการที่จะมาบอกว่าผิดหรือถูก แต่มีระบุไว้ในกฎหมายลูกว่า จะดูแนวทางการปฏิบัติของธุรกิจ ประมวลจริยธรรม ดูแนวทางปฏิบัติว่าในลักษณะต่างๆที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าถ่ายรูปติด ก็ผิดทันที ถือป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก”

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า คำวิยามของคำว่ากระทบสิทธิ์ หมายถึง การทำให้เกิดความเสียหาย เช่นการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปขายเพราะการที่จะใช้หรือเก็บรวบรวมข้อมูลบุคคลอื่นจะต้องมี

1.กฎหมายรองรับ ด้วยการทำสัญญาแต่ต้องใช้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเท่านั้น 
2.มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ เช่น ส่งข้อมูลไปกรมสรรพากร 
3.เพื่อชีวิตและร่างกายซึ่งเป็นเรื่องทางการแพทย์ 
4.เป็นส่วนที่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเช่น พบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดแล้วเราถ่ายไว้ก็สามารถทำได้ 
5.การค้นคว้าวิจัยหรือเพื่อเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล 

แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อนี้ เราจะต้องไปขอความยินยอม สำหรับกรณีของสื่อมวลชนที่จะต้องเก็บภาพถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆเพื่อมาประกอบข่าวนั้นก็ยังทำได้ตามปกติเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้นอกจากยกเว้นเรื่องส่วนตัวแล้วยังยกเว้นเรื่องสื่อมวลชน ที่มีประมวลจริยธรรมทางวิชาชีพ เพราะถือเป็นวิชาชีพ มีการจดทะเบียน มี กองบ.ก. กองบรรณาธิการซึ่งจะรู้ว่าข่าว และ ภาพ กระทบสิทธิ์ของคนอื่นหรือไม่ 

"สิ่งที่สำคัญหลังวันที่ 1 มิถุนายน เรื่อง สื่อมวลชนจะชัดขึ้น   ยูทูเบ้อ บล๊อคเกอร์  อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ใช่สื่อมวลชน หากไปโพสต์ภาพถ้าไม่ใช่ประโยชน์เพื่อสาธารณะแล้วและไม่ใช่สื่อมวลชนต้องระวัง"