วัดเสียงหนุนรัฐบาล-อุ้ม“ประยุทธ์” งัด“ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ”

วัดเสียงหนุนรัฐบาล-อุ้ม“ประยุทธ์” งัด“ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ”

จำนวนเสียง ส.ส. “ขั้วรัฐบาล” VS “ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ” ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล” เมื่อ “ธรรมนัส” เดินเกมแรง รวบรวมเสียงเพื่อโค่นล้ม “ประยุทธ์” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้จงได้

เปิดสภามาเพียงหนึ่งสัปดาห์ การเมืองกลับมาร้อนระอุจ่อปะทุอีกระลอก เมื่อ“ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รักษาการเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย เดินเกมปลด “บิ๊กน้อยพล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อคุมเกม-คุมเสียง 16 ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทยด้วยตัวเอง

ย้อนไปยังศึกซักฟอก 31 ส.ค.-4 ก.ย. 2564 “ร.อ.ธรรมนัส” คือคีย์แมนรวบรวมเสียง ส.ส.โหวตล้ม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ “บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย สั่งให้ลูกพรรคพปชร. หันกลับไปสนับสนุน “ประยุทธ์”

ไฟแค้น “ประยุทธ์”-“ธรรมนัส” ถูกสุมเพิ่มขึ้น เมื่อนายกฯประยุทธ์ปฏิบัติการปลดธรรมนัสพ้นตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมเดินเกมกดดันให้พี่ใหญ่ "พล.อ.ประวิตร” เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค พปชร.มาแล้วหลายครั้ง กระทั่งธรรมนัสยก 21 ส.ส.ออก โดยใช้มติขับตัวเองพ้นพรรค พปชร. ก่อนจะมาเข้าสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ด้วยจำนวน ส.ส. 18 คน (ศาลออกคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 คน เหลือ 16 คน)

นอกจากนี้ ผู้กองธรรมนัสยังมีเสียงของ “พรรคเล็ก” ซึ่งก่อตั้งในนาม “กลุ่ม 16” อยู่ในคอนโทรลอีก ทำให้แรงต่อรอง หลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ จะมีสูงขึ้นทันที

เกมคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 คว่ำร่างกฎหมายอื่น โหวตล้ม พล.อ.ประยุทธ์ในศึกซักฟอก มีชื่อของร.อ.ธรรมนัสอยู่ในสมการทุกข้อ หากพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง และกลุ่ม 16 จับมือกัน โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์จะพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีย่อมมีไม่น้อยเช่นกัน

เวลานี้ชัดเจนแล้วว่านายกฯ ประยุทธ์ไม่คิด “ยุบสภา” หนีศึกซักฟอกตามแรงยุของ “ขั้วฝ่ายค้าน” แต่พร้อมเดินหน้าเข้าสู่คิลลิ่งโซน หมดสิทธิ์ยุบสภา เมื่อมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยยอมเสี่ยงกับเสียงโหวตของ“ขั้วรัฐบาล”ที่ยังไม่นิ่ง

“กรุงเทพธุรกิจ” นำตัวเลข “ส.ส.ขั้วรัฐบาล” มาคำนวณว่า จำนวนที่มีอยู่จริง “เลือดแท้ประยุทธ์” มีจำนวนเท่าไร และหลังจากหัก “กลุ่มธรรมนัส” ออกไป “ขั้วรัฐบาล”จะเหลือกี่เสียง รวมถึง ส.ส.ขั้วฝ่ายค้าน ที่อาจมี ส.ส.งูเห่า ออกเสียงโหวตสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาล” ทั้งหมดจะเป็นตัวแปรสำคัญ ชี้ชะตารัฐบาลว่าจะอยู่รอดปลอดภัยจนใกล้ครบเทอมอย่างที่หวังเอาไว้หรือไม่

“ขั้วรัฐบาล” เริ่มที่ พรรคพลังประชารัฐ 100 เสียง (ตัดพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อออก) ทำให้เหลือ 99 เสียง โดยเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่ พล.อ.ประวิตร พยายามคอนโทรลให้ได้ทั้งหมด แต่เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส หักกับ “พล.อ.วิชญ์” ขอเดินการเมืองคนละทางกับ นาย “ประวิตร” ฉะนั้น 99 เสียงพปชร.ที่เหลืออยู่ในเวลานี้ ก็ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะมีใครกล้าแตกแถวหรือไม่

แม้ “ฝ่ายเสธ.” ข้างกายประยุทธ์ บางคนจะมีความระแวงว่า ประวิตรจะเล่นเกมสองหน้า สมคบคิดเดินเกมตลบหลังร่วมกับธรรมนัส โดยเลือกใช้บริการ กลุ่มธรรมนัส-กลุ่ม 16 ล้ม “ประยุทธ์” หรือไม่ เพราะจะดูแนบเนียนกว่าใช้บริการจาก ส.ส.พลังประชารัฐ

เนื่องจากฉากหลังของพรรคพลังประชารัฐ “3 ป.” ร่วมด้วยช่วยกันก่อตั้งขึ้นมา ทั้งร่วมลงแรง-ลงทุนด้วยกัน แม้ “ประวิตร” จะออกแรงมากสุด แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีกันมาอย่างยาวนาน และยังดูแลน้องรักทั้งสองคนเป็นอย่างดี การจะมา “ฆ่าน้อง” ด้วยพรรคการเมืองที่ร่วมสร้างกันมา จะดูหักหาญน้ำใจกันเกินไป และเป็นไปได้ยาก

พรรคภูมิใจไทย 65 เสียง การันตีโหวตสนับสนุน “ประยุทธ์” อย่างแน่นอน ซึ่ง“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค ยังตั้งใจโชว์โพยตัวเลข 260 เสียงการันตีให้ “ประยุทธ์” อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ที่สำคัญเกมล้ม “ประยุทธ์” ไม่อยู่ในแนวทางของ เนวิน ชิดชอบ บิ๊กบอสของพรรค

อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยอยู่ในช่วงเช็ต “ทีมเลือกตั้ง” เปิดดีล ส.ส.เกรดเอ จากค่ายเพื่อไทย ซึ่งมีหลายพื้นที่ยังไม่บรรลุข้อตกลง จึงจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากรัฐบาลต้องพ้นไปในเร็วๆ นี้ ภูมิใจไทยแม้จะมีความพร้อม แต่ยังไม่ใช่เวลาที่พร้อมที่สุด

พรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง (ยังไม่นับรวม ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ราชบุรี) โดยตามธรรมเนียมของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เคารพมติพรรคอย่างเคร่งครัด หากมีมติไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ส.ส.พรรคจะไม่แตกแถว แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลับเริ่มมี ส.ส.โหวตสวนมติพรรค เนื่องจากเกิดความเห็นแย้งกับ “ผู้บริหารพรรค” อย่างรุนแรง ซึ่งไม่เห็นด้วยตั้งแต่เข้าร่วม “รัฐบาลประยุทธ์่”

โดย 2 รายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน คือ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี “พนิต วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนกรณีของ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส. ตรัง แม้จะออกอาการฮึ่ม แต่หากโหวตสวนมติพรรคมีหวังโดนลงโทษ จนไปเข้าทางขั้วตรงข้ามในพรรค ใช้อ้างไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. ได้ ดังนั้น “สาทิตย์” อาจจำเป็นต้องโหวตตามมติพรรค

ทำให้จำนวนของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ 51 เสียง หากตัด 2 เสียงจาก “อันวาร์-พนิต” จะเหลือเสียงสนับสนุน “ประยุทธ์” 49 เสียง

สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง มี 2 เก้าอี้รัฐมนตรี “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ “ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรและสหกรณ์ และพรรครวมพลัง 5 เสียง มี 1 เก้าอี้รัฐมนตรี โดย “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงไม่มีปัญหาเหมือนบรรดา “พรรคเล็ก”

ส่วนพรรคเล็กที่ยังสนับสนุน “ประยุทธ์-รัฐบาล” มีดังนี้ พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง (อีก 1 เสียงแยกไปอยู่กลุ่ม 16) พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง (อีก 2 เสียงแยกไปอยู่กลุ่ม 16) พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง

เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดของ “ขั้วรัฐบาล” ที่จะโหวตสนับสนุน “ประยุทธ์-รัฐบาล” มีอยู่ในมือทั้งหมด 237 เสียง

อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย มีเสียงจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” มาเติมให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะงูเห่าจากพรรคก้าวไกล 4 เสียง ประกอบด้วย “คารม พลพรกลาง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ “พีรเดช คำสมุทร” ส.ส.เชียงราย “เอกภพ เพียรพิเศษ” ส.ส.เชียงราย “ขวัญเลิศ พานิชมาท” ส.ส.ชลบุรี ที่ลงมติไว้วางใจให้กับ “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” ในศึกซักฟอกเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564

เช่นเดียวกับ ส.ส. พรรคเพื่อชาติ 4 เสียง ประกอบด้วย ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ลินดา เชิดชัย และ อารี ไกรนรา ที่โหวตไว้วางใจให้กับศักดิ์สยามในศึกซักฟอกเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เตรียมย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยแน่นอนแล้ว 3 เสียง ประกอบด้วย ผ่องศรี แซ่จึง น.พ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ และ ธีระ ไตรสรกุล ส.ส.ศรีสะเกษ

เมื่อนับรวม “กลุ่มงูเห่า” ที่มีอย่างน้อย 11 เสียง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงโหวตเพิ่มขึ้น โดยตัวเลข “กลุ่มงูเห่า” อาจจะเป็นตัวเลขเดียวกับที่ “อนุทิน” เคยโชว์โพยให้ดูจำนวนเสียงโหวตจากขั้วฝ่ายค้าน

เมื่อนับรวม “ส.ส.ขั้วรัฐบาล” 237 เสียง บวกกับ “ส.ส.งูเห่า” 11 เสียง ทำให้จำนวนเสียง ส.ส. ที่โหวตสนับสนุน “ประยุทธ์-รัฐบาล” จะมี 248 เสียง

ด้าน “ขั้วฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 133 เสียง พรรคก้าวไกล 51 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง พรรคปวงชนไทย 1 เสียง และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง รวมทั้งหมด 209 เสียง

อย่างไรก็ตามใน “ขั้วฝ่ายค้าน” จะมีสวิงโหวตที่ถูกจัดกลุ่มอยู่ใน “ส.ส.งูเห่า” 11 เสียง ทำให้ยอดรวมของ “ส.ส.ขั้วฝ่ายค้าน” จะอยู่ที่ 198 เสียง ซึ่งไม่พอที่จะล้ม “ประยุทธ์” อย่างแน่นอน

โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่กลุ่มตัวแปร โดยเฉพาะพรรคเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ภายใต้การคอนโทรลของ “ธรรมนัส” เบ็ดเสร็จ ชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจไทย-ธรรมนัส ไม่อยู่ร่วมขั้วรัฐบาล และมีภารกิจล้ม “ประยุทธ์” โดยมีอยู่ 16 เสียง

ขณะเดียวกัน “กลุ่ม 16” ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 1 เสียง พรรคชาติพัฒนา 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคไทรักธรรม 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง พรรคเพื่อชาติไทย 1 เสียง รวม “กลุ่ม 16” มีทั้งหมด 20 เสียง

เมื่อนับรวม “พรรคเศรษฐกิจไทย-กลุ่ม 16” จะได้ 16 + 20 เท่ากับ 36 เสียง ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับที่ “ธรรมนัส” ประกาศเอาไว้ว่าพรรคเศรษฐกิจไทย-กลุ่ม 16 มีทั้งหมดเกือบ 40 เสียง

หากนับรวมตัวเลข ส.ส. “ขั้วฝ่ายค้าน” 198 เสียง บวกกับ “พรรคเศรษฐกิจไทย” 16 เสียง และบวกกับ “กลุ่ม 16” 20 เสียง ทำให้เสียงของ “ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ” จะมียอดรวมอยู่ที่ 234 เสียง ซึ่งยังไม่พอที่จะล้ม “ประยุทธ์-รัฐบาล” ซึ่งมีอยู่ 248 เสียง อยู่ดี

ดังนั้นปฏิบัติการล้ม “ประยุทธ์-รัฐบาล” ยังต้องเพิ่มเติมจำนวนเสียงให้ได้อีกอย่างน้อย 8 เสียง เพื่อเพิ่มเสียงของ “ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ” และลดเสียงของ “ขั้วรัฐบาล” โดยโฟกัสหลักพุ่งไปที่ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังมีความผูกพันกับ “ธรรมนัส” อยู่บ้าง

หรืออาจจะเปิดดีลกับ “ส.ส.งูเห่า” เพื่อดึงแต้มกลับมาจาก “ขั้วรัฐบาล” โดยเฉพาะ งูเห่าจากพรรคเพื่อชาติ ที่เคยเทเสียงให้ “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” 4 เสียง

ทั้งหมดคือ จำนวนเสียง ส.ส. “ขั้วรัฐบาล” VS “ขั้วฝ่ายค้านเฉพาะกิจ” ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล” เมื่อ “ธรรมนัส” เดินเกมแรง รวบรวมเสียงเพื่อโค่นล้ม “ประยุทธ์” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้จงได้