“4 ด่าน”สภาฯ ล้มรัฐบาล “3 ป." ฝ่ายค้านรุกปฏิบัติการคว่ำงบฯ 2566  

“4 ด่าน”สภาฯ ล้มรัฐบาล “3 ป." ฝ่ายค้านรุกปฏิบัติการคว่ำงบฯ 2566  

การเมืองในสภาผู้แทนราษฎร เปิดฉาก ต้องจับตา 4 วาระร้อน ที่มีผลสะเทือน เก้าอี้ของ "รัฐบาล" โดยเฉพาะ กลุ่มอำนาจของ "3ป."

         เมื่อเวทีสภาฯ เปิดสมัยประชุม สิ่งที่ต้องจับตา คือ วาระร่างกฎหมายที่มีผลเกี่ยวพันกับ “การอยู่ในตำแหน่ง” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพราะตามบรรทัดฐานการเมือง หากร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หรือเป็น กฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ  “รัฐบาล” ต้องแสดงความรับผิดชอบ

 

         แม้การแสดงความรับผิดชอบดังกล่าว จะไม่มีบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย แต่ถือเป็น “สปิริต” ของผู้นำประเทศ

 

         วาระของสภาฯ สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2565 มีประเด็นที่ต้องจับตาหลายเรื่อง

 

         ไล่เรียงตั้งแต่ วันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2565 นี้ ที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ นัดหมายให้สมาชิกประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท ในวาระแรก

“4 ด่าน”สภาฯ ล้มรัฐบาล “3 ป.\" ฝ่ายค้านรุกปฏิบัติการคว่ำงบฯ 2566  

         สำหรับสิ่งที่ต้องจับตาคือ การลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ แม้ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎว่าสภาฯ คว่ำร่างกฎหมายการเงินฉบับสำคัญ ตั้งแต่วาระแรก เพราะว่าเสียงข้างมากของที่ประชุม ซึ่งยึดเป็นหลักเกณฑ์ “เห็นชอบ” ของ ร่างพ.ร.บ.นั้น เป็นฝั่งที่ “รัฐบาลควบคุมได้”

 

         และด้วยตัวเลขของ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน “ฝั่งรัฐบาล” ยังถือเป็นเสียงข้างมาก เพราะมีสมาชิก 242 เสียง ขณะที่ ฝ่ายค้านมี 209 เสียง แม้จะมีฝั่งสวิงโหวตที่ 24 เสียงมาจากขั้วของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และพรรคปัดเศษ

 

         ต่อด้วยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ..... ซึ่งที่ประชุมรัฐสภานัดพิจารณาวาระสอง และวาระสาม ในวันที่ 9 - 10 มิถุนายน

 

         สิ่งที่ต้องจับตาคือ การเดินหน้า หรือถอยหลัง จากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ใช้ 100 คนหารเพื่อหาค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

 

         แม้ว่าหลักการ 4 ขั้วใหญ่ คือ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะเห็นพ้องใช้ 100 คนหาร แต่ยังมีปมที่บางฝ่าย ต้องการให้ใช้ 500 คนหาร และขณะนี้ได้พยายามเดิมเกมที่เกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ของขั้วอำนาจในรัฐบาล และเสียงข้างมากในสภาฯ

 

         แม้เกณฑ์การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ในวาระสอง จะใช้เสียงโหวตข้างมากของผู้มาประชุม แต่อย่าลืมว่า “การประชุมร่วมรัฐสภา” ต้องรวมเสียง ส.ว. 249 คน ด้วย หากผู้นำ “ขั้วอำนาจ” ออกคำสั่ง แน่นอนว่า การพลิกผันย่อมเกิดขึ้นได้

“4 ด่าน”สภาฯ ล้มรัฐบาล “3 ป.\" ฝ่ายค้านรุกปฏิบัติการคว่ำงบฯ 2566  

         ขณะที่การลงมติวาระสาม ใช้เกณฑ์ออกเสียงเห็นชอบ "มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 725 เสียง ดังนั้นต้องมีผู้ออกเสียง 364 คนขึ้นไป จึงจะถือว่า​ “รัฐสภาผ่านกติกาเลือกตั้งฉบับใหม่”

         ต่อมาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชน นำโดย “สมชัย ศรีสุทธิยากร” เสนอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ “ส.ว.” ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

 

         ที่แม้จะยังไม่กำหนดวันพิจารณา แต่ในสาระ หาก “รัฐสภา” ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเห็นชอบให้ “โละอำนาจ” จะกระเทือน ต่อเกมอำนาจของ “กลุ่ม 3 ป.” ทันที เพราะแต้มตุนที่จะชูคนของตัวเองนั่งเก้าอี้ นายกฯ ในสมัยหน้า อาจเป็นงานยาก

“4 ด่าน”สภาฯ ล้มรัฐบาล “3 ป.\" ฝ่ายค้านรุกปฏิบัติการคว่ำงบฯ 2566  

         อย่างไรก็ดี การแก้ไขมาตรา 272 ในที่ประชุมรัฐสภา ไม่เคยสำเร็จ เพราะเสียง “ส.ว.” ไม่เอาด้วย และตามรัฐธรรมนูญ กำหนดเงื่อนไขให้ “ส.ว.” ต้องเห็นชอบด้วย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ของคะแนนเสียงเห็นชอบที่ใช้เกณฑ์มากกว่ากึ่งหนึ่ง นั้นด้วย

 

         ความพยายามแก้ไข มาตรา 272 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อ 23 -24 มิถุนายน 2564 มี ส.ว.เห็นชอบด้วย แค่ 15 เสียงเท่านั้น

 

         ด่านสุดท้าย คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.ประยุทธ์” และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่ฝ่ายค้านแก้เกมรัฐบาล ขอขยับขึ้นมาแทรกคิวกฎหมายอื่น โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสี่ กำหนดให้เสียงโหวต “ล้มประยุทธ์” ต้องได้เสียงไม่ไว้วางใจ 239 เสียงขึ้นไป

 

         โดยเสียงหนุน “ประยุทธ์” ตอนนี้ หากประเมินอาจจะได้เกิน 239 เสียง แต่เอาเข้าจริง ต้องขึ้นอยู่วันโหวตว่า ท้ายสุดแล้วจะมีพลังอื่นที่เอาชนะ ขั้วอำนาจปัจจุบันของ 3 ป.ได้หรือไม่.