คะแนน “ชัชชาติ-ส.ก.” เอฟเฟกต์สนามใหญ่ ศึกกทม. “ประยุทธ์” สะเทือน

คะแนน “ชัชชาติ-ส.ก.” เอฟเฟกต์สนามใหญ่ ศึกกทม. “ประยุทธ์” สะเทือน

4 ปมหลักที่ “3ป.”ต้องเคลียร์-ต้องแก้ ไม่เช่นนั้นโอกาสจะกลับมาเป็นรัฐบาลมีน้อยมาก แม้จะมี 250 ส.ว.เป็นแบ็คอัพอีก 1 สมัย แต่หากอีกขั้วรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งสภา การบริหารราชการมีปัญหาติดขัด ยังจะฝืนไปต่อ ก็ยากเต็มทน

จบศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) แต่เอฟเฟกต์สั่นสะเทือนการเมืองสนามใหญ่ เพิ่งเริ่มต้น โดยมีเวลาอย่างน้อยไม่ถึง 1 ปี ที่การเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากเทอมสภาจะครบ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีทางเลือกคือ จะตัดสินใจยุบสภา หรืออยู่ครบเทอม เพราะไม่สามารถต่อยอดอำนาจออกไปอีกแล้ว

ผลคะแนนของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17  ที่ลงอิสระ ชนะแบบแลนด์สไลด์ 1,386,215 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งหลายเท่าตัว โดย “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 254,647 คะแนน “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พรรคก้าวไกล ได้ 253,851 คะแนน “สกลธี ภัททิยกุล” ลงอิสระ ได้ 230,455 คะแนน “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ลงอิสระ ได้ 214,692 คะแนน

ที่น่าสนใจคือ คะแนนของผู้สมัคร 29 คนได้ 1,175,232 ยังน้อยกว่าคะแนนของ “ชัชชาติ” คนเดียว ที่กวาดมาได้ 1,386,215 คะแนน โดยมีผู้ใช้สิทธิ 4,402,948 คน มาใช้สิทธิ 2,673,696 คน คิดเป็นร้อยละ 60.73

เมื่อตัวเลขไม่โกหกใคร จึงพออนุมานได้ว่าคะแนนของ “ชัชชาติ” มาจากกลุ่มคนทุกช่วงวัย และได้รับความไว้ใจจากทุกขั้วการเมือง กลุ่มแรก “ฐานเสียงจากพรรคเพื่อไทย” กลุ่มที่สอง “ชนชั้นกลางใน กทม.” กลุ่มที่สาม “นิวโหวตเตอร์” ฐานเสียงพรรคก้าวไกล กลุ่มที่สี่ “อนุรักษ์นิยม” ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ

การวางตัว-วางเกม ไม่อิงกับพรรคการเมืองในขั้วใดของ “ชัชชาติ” ถือว่าตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะหากเลือกสังกัดพรรคการเมือง คะแนนจากขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม จะไม่สวิงมาเลือก “ชัชชาติ” เช่นกัน

สำหรับสนาม ส.ก. ทั้งหมด 50 เขต เป็นของผู้สมัคร ส.ก. พรรคเพื่อไทย 20 เขต พรรคก้าวไกล 14 เขต พรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต พรรคพลังประชารัฐ 2 เขต พรรคไทยสร้างไทย 2 เขต กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต

สำหรับ "พรรคไทยสร้างไทย" แม้จะเก่าประสบการณ์ แต่ในฐานะพรรคน้องใหม่ เก็บเก้าอี้ ส.ก. ได้ 2 ที่นั่ง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของพรรคการเมืองน้องใหม่ ในการลงสู้ศึกเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม มีพรรคน้องใหม่อย่าง "พรรคกล้า" ผู้สมัคร ส.ก. ลงชิง 12 เขต แต่กลับไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่เขตเดียว จึงต้องติดตามว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค จะวางหมากทางการเมืองอย่างไร เพื่อเก็บแต้มการลงเลือกตั้งสนามใหญ่

กระแส“ชัชชาติ”เติมแต้มพท.

เมื่อดูปริมาณของ ส.ก. แล้วต้องยอมรับว่า กระแสของเพื่อไทยในพื้นที่ กทม.ไม่เคยอยู่ในแดนบวกเท่าครั้งนี้มาก่อน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า คะแนนมาจากกระแส “ชัชชาติ” ที่แม้ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ในทางพฤตินัยรู้กันดีว่าหากไม่มี ส.ก. เพื่อไทย การทำงานของชัชชาติมีโอกาสถูกเตะตัดขา ทำให้คะแนนทั้ง “ชัชชาติ-เพื่อไทย” ไปเกื้อหนุนกันพอดี

เช่นเดียวกับ ส.ก. พรรคก้าวไกล สามารถปักธงลงในพื้นที่ กทม.ได้ถึง 14 เขต ซึ่งจะเป็นฐานเสียงทางการเมืองต่อยอดไปชิงความได้เปรียบการเลือกตั้ง ส.ส. กทม.รอบหน้า ขจัดข้อครหาได้ ส.ส. จากพื้นที่อดีตพรรคไทยรักษาชาติที่โดนยุบพรรคไปก่อนการเลือกตั้ง 

ที่สำคัญ “นิวโหวตเตอร์” ที่เลือกชัชชาติจะกลับมาเลือกพรรคก้าวไกล เติมคะแนนอีกมากโข

“ขั้วอนุรักษ์นิยม”กระแสวูบ

ตรงกันข้ามกับ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์ 9 เขต พลังประชารัฐ 2 เขต กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต รวมกันแล้วมีพื้นที่ ส.ก. อยู่ในมือเพียง 14 เขต ทำให้การรักษาเก้าอี้ ส.ส.จะยากขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญต่างพรรค-ต่างกลุ่ม จะต้องแย่งคะแนนในโถเดียวกัน ตัดแต้มกันเอง จะยิ่งเป็นรอง “ขั้วประชาธิปไตย”

สำหรับการแข่งกันเองของ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” รอบนี้ ประชาธิปัตย์สามารถฟื้นคืนชีพได้พอสมควร หลังสูญพันธุ์ในการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ไม่ได้แม้แต่เก้าอี้เดียว

ตรงกันข้ามกับพลังประชารัฐ-กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ที่มีฐานเสียงเดียวกัน กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ตกฮวบลงไป ประกอบกับความวุ่นวายภายในพรรค ทำให้โดนกระแสกลับไม่เอาพลังประชารัฐ-ไม่เอาประยุทธ์ จนแต้มการเมืองหายวูบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาบ่งบอกความเสื่อมของ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ที่เวลานี้มี “3 ป.” เป็นหัวขบวน ทว่าภาพลักษณ์ในช่วงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดี

3ป.ปรับตัวแก้ 4 ปม

ฉะนั้น ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีของ “3 ป.-กลุ่มอนุรักษ์นิยม” จะต้องถอดบทเรียน และทบทวนข้อผิดพลาดอย่างหนัก เพื่อเตรียมความพร้อมในศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ไม่เช่นนั้นโอกาสพ่ายแพ้ให้ “ขั้วประชาธิปไตย” มีสูงลิบ

ปมแรก “2 ป.” คีย์แมนแกนนำรัฐบาล “ประยุทธ์-ประวิตร” ต้องเร่งปิดจ็อบ เกมร้าวให้เร็วที่สุด อย่าชะล่าใจว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่อยู่ในสายตาของ “ประชาชน” ยิ่งยุคข้อมูลข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวของ “ผู้นำประเทศ-คนการเมือง” จะอยู่ในการจับจ้องมากเป็นพิเศษ

“ประยุทธ์” จำเป็นต้องเคลียร์ใจกับ “ประวิตร-เครือข่าย” ให้เสร็จสรรพก่อนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหากยังมีการเดินเกมโหวตคว่ำ “ประยุทธ์” คาสภา ยิ่งตอกลิ่มให้เห็นภาพว่า “3 ป.” ยังร้าว พรรคพลังประชารัฐยังแย่งอำนาจกันเอง “ประชาชน”ไม่แฮปปี้อย่างแน่นอน

ปมสอง “ประยุทธ์” ต้องมีความชัดเจนว่า จะขับเคลื่อนพรรคการเมืองใดจะอยู่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการรีแบรนด์พรรคให้กลับมามีภาพลักษณ์ที่ดี หรือจะหาพรรคใหม่เข้าสังกัด เนื่องจากการรีแบรนด์พลังประชารัฐ ให้กลับมามีภาพลักษณ์ที่ดีอาจจะยากเกินแก้

หากปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยไม่ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง โอกาสที่จะรีแบรนด์พลังประชารัฐจะหลุดลอยไป โอกาสที่จะสร้างแต้มการเมืองให้พรรคใหม่จะหมดไป จึงหมดเวลารอของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว

ปมสาม เมื่อเพลี่ยงพล้ำแก้รัฐธรรมนูญมาใช้บัตร 2 ใบในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่สามารถถอยหลังไปใช้บัตรใบเดียวได้อีกแล้ว โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแลนด์สไลด์มีสูง แม้ กมธ.กฎหมายลูก จะมีมติคำนวณสูตรปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 ไปแล้ว แต่บรรดา ส.ว. ยังตั้งป้อมขวางอยู่

จึงต้องจับตาสัญญาณจาก 2 ป. “ประยุทธ์-ประวิตร” จะรีเช็ตเกมจากหาร 100 กลับมาเป็นหาร 500 ป้องกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ได้หรือไม่ โดยมีกระแสข่าวว่า “ประยุทธ์” เริ่มส่งสัญญาณให้ ส.ว. ขวางสูตรหาร 100 ส่วน “ประวิตร” จะส่งสัญญาณไปยังพรรคพลังประชารัฐอย่างไร ต้องติดตาม

ปมสี่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นโจทย์ยากที่สุด เนื่องจากปัญหาหลักอยู่ที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกือบทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น แต่นายกฯ ประยุทธ์ จำเป็นต้องคำนวณงบประมาณ ที่มีอำนาจตัดสินใจใช้ จะต้องใช้ในเวลาใด

ยิ่งในช่วงปลายรัฐบาล อาจจะมีเซอร์ไพรส์ “แจก-จ่าย-จบ” อัดเป็นแคมเปญกระตุ้นแต้มการเมืองให้ “ขั้วรัฐบาล” มีแต้มต่อ ก่อนลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นสูตรที่ “ผู้มีอำนาจรัฐ” ใช้กันอยู่ตลอด

ทั้งหมดคือ 4 ปมหลักที่ “3 ป.”ต้องเคลียร์-ต้องแก้ ไม่เช่นนั้นโอกาสจะกลับมาเป็นรัฐบาลมีน้อยมาก แม้จะมี 250 ส.ว.เป็นแบ็คอัพอีก 1 สมัย แต่หากอีกขั้วรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งสภา การบริหารราชการมีปัญหาติดขัด ยังจะฝืนไปต่อ ก็ยากเต็มทน