"ทักษิณ-เสื้อแดง" 15 ปี แห่งความหวานและขมขื่น

"ทักษิณ-เสื้อแดง" 15 ปี แห่งความหวานและขมขื่น

แกนนำ นปช. มิอาจปฏิเสธได้ "ทักษิณ ชินวัตร" คือศูนย์รวมใจ "คนเสื้อแดง" แต่ความเจ็บปวดของแกนนำบางคนที่ถูกทิ้งขว้าง ให้ติดคุกติดตะราง ทำให้เกิดระยะห่างกับคนแดนไกล

"คนเสื้อแดง" กำเนิดจากมวลชนในนามกลุ่มคนรักทักษิณ ที่ชุมนุมต้าน คมช. เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก่อนจะปรับขบวนเป็น นปก. และ นปช. พร้อมกับสัญลักษณ์สีแดง

ความสัมพันธ์ของทักษิณกับคนเสื้อแดง โดยเฉพาะแกนนำ นปช. ก็เหมือนวรรคทองของเพลงลูกทุ่งที่ว่า "...ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น"

พลันที่ลูกสาวทักษิณ ชินวัตร เชิญชวนคนเสื้อแดงกลับบ้านคือ พรรคเพื่อไทย ก็มีปฏิริยาจากแกนนำ นปช.อย่างจตุพร พรหมพันธ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมาพูดคล้ายกันว่า คนเสื้อแดงเป็นเสรีชน จะเลือกสนับสนุนพรรคใดก็ได้ ในฝ่ายประชาธิปไตย

ทั้งตู่-เต้น พยายามบอกว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่สาวกทักษิณ เหมือนฝ่ายตรงข้ามโจมตี แต่ในความจริงองค์กร นปช. ก็มีแค่แกนนำไม่กี่คน ส่วนมวลชนตัวจริงก็คือ ผู้สนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ 

"ทักษิณ-เสื้อแดง" 15 ปี แห่งความหวานและขมขื่น

 ย้อนไปปี 2550 ขบวนการต้าน คมช. ยังไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่เป็นกลุ่มคนรักทักษิณ ที่มีนักการเมืองดังแห่งอีสานใต้ เป็นสปอนเซอร์ ในฐานะตัวแทนคนแดนไกล

 หลังนักการเมืองอีสานใต้พาจักรภพ เพ็ญแข ไปพบทักษิณที่อินเดีย ก็มีการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์พีทีวีของบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด ที่มี วีระกานต์ มุสิกพงศ์ เป็นเจ้าของ และประกาศจะแพร่ภาพออกอากาศในวันที่ 1 มี.ค.2550

มิตรสหายในบริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่ ประกอบด้วย วีระกานต์ มุสิกพงศ์, จักรภพ เพ็ญแข, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ,และก่อแก้ว พิกุลทอง

ต่อมา คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์ มีคำสั่งห้ามพีทีวี ออกอากาศ จึงเป็นเงื่อนไขให้ จักรภพจัดการชุมนุมเรียกร้องให้พีทีวีได้ออกอากาศเหมือนเอเอสทีวี ที่ท้องสนามหลวง เรียกกันว่า ม็อบพีทีวี

ด้วยทุนสนับสนุนจากคนแดนไกล ทำให้ม็อบพีทีวี เข้าเทคโอเวอร์การชุมนุมของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ พัฒนาเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" (นปก.) มีแกนนำชุดแรกได้แก่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท, พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย, จรัล ดิษฐาอภิชัย และมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ

ภารกิจแรกของ นปก.คือ การนำมวลชนปิดล้อมบ้านป๋าเปรม หลังแกนนำ นปก.ถูกจับติดคุก ก็ปรับองค์กรใหม่ "แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) ยุคแรกนำโดย วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ชินวัฒน์ หาบุญพาด, นพ.เหวง โตจิราการ และอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง    

"ทักษิณ-เสื้อแดง" 15 ปี แห่งความหวานและขมขื่น

ช่วงนี้ นักการเมืองอีสานใต้หักหลังนายใหญ่ และเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่งผลให้คนแดนไกลเปิดยุทธการโค่นอำมาตย์ปี 2552 จึงมีการเปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน" ตอนนี้แหละที่เริ่มใช้คำว่า คนเสื้อแดง และใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมมวลชน

เมื่อ นปช.พ่ายแพ้ในยุทธการโค่นอำมาตย์ปี 2553 แกนนำและแนวร่วม นปช.หนีไปหลบภัยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีจักรภพ เพ็ญแข และอริสมันต์ เป็นผู้ประสานงาน

นับแต่นั้นมา ภายในขบวนการคนเสื้อแดงหรือ นปช. เกิดความขัดแย้งทางความคิด มีการนำเสนอทฤษฎีการต่อสู้ในแบบต่างๆ ซึ่งบางกลุ่มเริ่มคิดการต่อสู้ด้วยความรุนแรง

ปี 2554 ธิดา ถาวรเศรษฐ ก้าวขึ้นเป็นประธาน นปช. จึงทำให้เกิดแรงปะทุภายในองค์กรหลัก เมื่อกลุ่มแกนนำ นปช.ที่อยู่ในกัมพูชากลับเมืองไทยในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 นี่คือจุดเริ่มของ นปช.แถว 2 หรือ นปช.ฮาร์ดคอร์ ประกอบด้วย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, เสกสกล อัตถาวงศ์, พายัพ ปั้นเกตุ, วันชนะ เกิดดี , ชินวัฒน์ หาบุญพาด และพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์

หลังจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่งตั้งแรมโบ้อีสาน เสกสกล ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้แยกตัวออก นปช.ไปตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) เพื่อปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อการยึดอำนาจปี 2557 ได้ส่งหน่วยความมั่นคงเข้าสลายกลุ่มคนเสื้อแดงทั่วประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมา นปช.ก็ตกอยู่ในสภาพมีแต่หัว มีแต่แกนนำ ไม่มีมวลชนเรือนหมื่นเรือนแสนเหมือนในอดีต

ปัจจุบัน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และธิดา ถาวรเศรษฐ เปิดสำนักข่าวยูดีดีนิวส์ ที่นนทบุรี และมีความพยายามจะจัดตั้งพรรคเส้นทางใหม่ แต่ไปไม่ถึงฝัน เมื่อจาตุรนต์ ฉายแสง ผู้ที่ถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรค ถอดใจย้ายกลับเพื่อไทย

ส่วน จตุพร พรหมพันธุ์ เพิ่งไปสร้างอาคารที่ทำการสถานีโทรทัศน์พีซทีวี บนเนื้อที่ 3 ไร่ โดยมีการก่อสร้างเป็นอาคารชั้นเดียว อยู่ที่ซอยนวลจันทร์ 40

ล่าสุด จตุพรให้นิยามคนเสื้อแดงว่า เป็นคนที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย รักความยุติธรรม และทนต่อความอยุติธรรมไม่ได้ 

 "ในช่วง 15 ปีนี้ มีเรื่องราวมากมาย เราสู้ไม่ใช่เพื่อชนะวันนี้ แต่สู้ให้คนรุ่นลูกหลานในวันหน้า จะได้ไม่รับชะตากรรมเหมือนเรา ดังนั้น เป็นสิทธิของคุณอุ๊งอิ๊งที่จะชวนคนเสื้อแดงกลับ...พรรคเพื่อไทยมีสิทธิชวน ขึ้นอยู่กับว่าพี่น้องเสื้อแดงจะตัดสินใจ รวมถึงส่วนอื่นก็มีสิทธิชวนเช่นกัน"

"ทักษิณ-เสื้อแดง" 15 ปี แห่งความหวานและขมขื่น

ณัฐวุฒิ ก็แสดงความเห็นไม่ต่างจากจตุพร คนเสื้อแดงไม่ใช่คนเพื่อไทย ในอนาคตคนเสื้อแดงอาจจะไปสนับสนุนพรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทย ก็เป็นดุลพินิจของพวกเขา

จากม็อบพีทีวีมาถึงม็อบคนเสื้อแดง แกนนำ นปช.ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นศูนย์รวมใจคนเสื้อแดง แต่ความเจ็บปวดของแกนนำบางคนที่ถูกทิ้งขว้าง ให้ติดคุกติดตะราง ทำให้เกิดระยะห่างกับคนแดนไกล

เมื่อหัวหน้าเสื้อแดงคนใหม่ปรากฏตัว แกนนำ นปช.หลายคน คงอยากตะโกนบอกให้ทุกคนรู้ว่า 15 ปีแห่งความหลัง ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น