จับกระแส เด้ง“ผบ.ทบ.” ต้าน“รัฐประหาร” กลางศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

จับกระแส เด้ง“ผบ.ทบ.” ต้าน“รัฐประหาร”  กลางศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ถ้าผลการ "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." สะท้อนให้เห็นการเมืองภาพใหญ่ สถานการณ์นับต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตา

หากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นการเลือกตั้งสนามใหญ่ ที่ส่งผลไปถึงการเลือกตั้ง ..ที่จะมาถึงในวันข้างหน้านี้ นโยบายที่โดนใจ ทัศนคติ และจุดยืนเรื่อง“รัฐประหาร” ในเวทีดีเบตของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนกรุง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในอนาคต

รัฐประหาร” ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว ที่ส่งผลทั้งทางบวก และทางลบ กับภาพสังคมไทยที่ยังยืนอยู่บนความขัดแย้ง และการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายของคนหลากหลายเจนเนอเรชั่น ที่มีทั้งฝ่ายเสรีนิยม และอนุรักษ์นิยม และมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.วันที่ 22 พ.ค.2565 และศึกเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า

โดยตัวแปรสำคัญอยู่ที่คน 3 เจนเนอเรชั่น ที่รวมกันมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทั้งหมดประมาณ 4.4 ล้านคน ที่จะเป็นเสียงชี้ขาด คือ เจน Z อายุ 18-27 ประมาณ 7 แสนกว่าคน เจน Y อายุ 28-40 ประมาณ 1 ล้านกว่า และ เจน X อายุ41-50 ประมาณ 8 แสนกว่าคน ส่วนคนอายุ 51-อาวุโส รวมกันกว่า 1 ล้านคน

เชื่อกันว่าคน 3 เจนเนอเรชั่น ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเสรีนิยมจะเทคะแนนไปที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ และที่มองข้ามไม่ได้คือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัคร พรรคก้าวไกล 

ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยม คะแนนจะตัดกันเอง ทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สกลธี ภัททิยกุล รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากประชาธิปัตย์

การจุดกระแสต้าน “รัฐประหาร” ในเวทีดีเบตผู้ว่าฯ กทม.จึงกลายเป็นประเด็นถูกพูดถึงในวงกว้าง ประจวบเหมาะกับ การเปิดผลงานวิจัยนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิตในเพจโฟกัสเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เรื่องทัศนคติของประชาชนต่อการรัฐประหาร 2557 สรุปได้ว่า คนต่างจังหวัดไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557 เช่นเดียวกับผลวิจัยคนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วย 93% เห็นด้วยกับ 2.7% ไม่มีความเห็น 4.3%

“ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กทม. ผมมีสิทธิ์ 1 เสียง ที่ผมจะเลือกเท่านั้นเอง ดังนั้น สิ่งใดที่พูดมา ท่านใด ที่พูดย้อนเก่า ก็กลับไปดูแล้วกันว่า ทำอะไรมาบ้าง แต่ละคน ส่วนการปลุกกระแสต่อต้านรัฐประหาร ก็อย่าไปสนใจ ใครจะรัฐประหาร แล้วทำมาเมื่อไหร่ ทำมาเพราะอะไร ย้อนไปดูพฤติกรรมสมัยก่อน ถ้าใครจะว่าผม บ้านเมือง อยู่มาวันนี้ได้ สงบแบบนี้ เพราะอะไร แล้วใครจะอยากให้เกิดขึ้นอีกไม่มีหรอก ผมก็ไม่อยากทำ ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าว

ฟากฝั่ง“กองทัพบก”แม้จะไม่ให้น้ำหนักกระแสต้าน“รัฐประหาร” เพราะประเมินแล้วว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีมูลเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติการเมืองจนต้องเดินไปสู่จุดนั้น แต่มองว่าเป็นเพียงการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่หวังผลการเมืองในอนาคต

“ไม่มีหรอก กองทัพมีจุดยืนอุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ผบ.ทบ.กล่าวถึงจุดยืนของกองทัพ หากเกิดความวุ่นวายที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร

แต่ประเด็นที่กำลังเป็นที่จับตาคือ กระแสข่าวเปลี่ยนตัว ผบ.ทบ.ที่ร่ำลือกันมาตลอด โดยเฉพาะระยะห่างระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน มีให้เห็นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ประจวบเหมาะปัญหาการเสนอข่าวรัสเซีย-ยูเครน ของ อดีต ผอ.ททบ.5 พล.อ. รังษี กิตติญาณทรัพย์ ผอ.ททบ.5 เพื่อนรัก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่ฝ่ายค้านเตรียมขยายผลในเวทีศึกซักฟอกรัฐบาลในเดือน ก.ค.นี้

ก่อนที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะออกมาแอคชั่น กรณีโฆษณาลาซาด้า ที่ถือเป็น จุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องสถาบัน และการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลเป็นกรณีพิเศษให้กับ 7 ทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมปี 2553 ครั้งแรกในรอบ 12 ปี

ในขณะที่สปอร์ตไลท์กำลังจับไปที่ พล.อ.เจริญชัย สินเธาว์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ทหารเสือราชินีคอแดง หลังจากเมื่อต้นปี 2565 ได้นำทหาร-ตำรวจชั้นนายพลที่ได้รับพระราชทานยศเมื่อ เม.ย.และ ต.ค.ปี 2564 กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. พล.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. และ พล.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผบ.ทอ. ร่วมพิธี

สำหรับ พล.อ.เจริญชัย เป็นเตรียมทหารรุ่น 23 (ตท.23) มีต้นกำเนิดมาจากทหารเสือราชินี เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเป็น “ตัวเต็ง” ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่จะเกษียณอายุราชการเดือน ต.ค. 2566

หากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.สามารถสะท้อนให้เห็นการเมืองภาพใหญ่ของประเทศ สถานการณ์นับต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตา