ปอท.จ่อเรียก 3 ฝ่ายร่วมผลิตโฆษณา แพลตฟอร์มค้าออนไลน์

ปอท.จ่อเรียก 3 ฝ่ายร่วมผลิตโฆษณา แพลตฟอร์มค้าออนไลน์

รองโฆษก ตร.แจง ปมโฆษณาพาดพิงความไม่เท่าเทียม การประสาน ดีอีเอส ให้ความร่วมมือปิดกั้น 49 URL ยับยั้งการเผยแพร่แล้ว ส่วนหลักฐาน พยานจาก ตำรวจ ปอท. ชี้ความเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง และนักแสดง เล็งเรียกให้ปากคำ ก่อนพิจารณา ผิดถูก ในทางกฎหมาย

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 กรณีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ที่นำเสนอโฆษณาที่มีเนื้อหาพาดพิงไปยังบุคคลที่มีอาการเจ็บป่วย มีความบกพร่องหรือความไม่เท่าเทียม รวมถึงมีการร้องทุกข์จาก นายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวโทษอย่างน้อย 2 ข้อหา คือ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

ล่าสุด ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตั้งแต่มีการเผยแพร่โฆษณา เมื่อ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ส่วนการร้องทุกข์กล่าวโทษจากนายศรีสุวรรณ นั้น ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนดำเนินการสอบปากคำ ตัวแทนจาก ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ(ศปปส.) พร้อมประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ตรวจสอบและทำการปิดกั้น 49 URL ที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมแล้ว ทั้งลิงก์ที่นำไปโพสต์และการแชร์ส่งต่อทางสื่อออนไลน์

ส่วนการดำเนินคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง เบื้องต้น อย่างน้อย 3 ราย ทั้งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหา, บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เผยแพร่, รวมถึงตัวนักแสดง ซึ่งก็จะต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบสวน และนำคำให้การมาประกอบพยานหลักฐานว่าใครจะเข้าข่ายความผิดอย่างไรบ้าง

พ.ต.อ.กฤษณะ ยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้เสพสื่อออนไลน์ก็เห็นอยู่แล้วว่าการกระทำนี้เหมาะสมหรือไม่ แม้บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาจะมีการออกแถลงการณ์แล้วแต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดที่เสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความมั่นคง ก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทอาจทำเพื่อการตลาด แต่ก็ต้องดูเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้วย อย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง

ส่วนกรณีที่ 3 เหล่าทัพ มีการออกคำสั่งแบนไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ เปิดเผยว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกคำสั่งดังกล่าว เพราะตำรวจ ถือว่ามี 2 สถานะ คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนทั่วไป ซึ่งในฐานะประชาชนทั่วไป ก็ต้องให้พิจารณาไตร่ตรองเอาเองว่า จะปฏิบัติยังไงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงไม่ถึงขั้นต้องมีคำสั่งไปห้ามปราม