ปิดฉากมหากาพย์โกงสอบท้องถิ่น จ.มหาสารคาม คุก นายก อบต.กราวรูด สูงสุด 140 ปี

ปิดฉากมหากาพย์โกงสอบท้องถิ่น จ.มหาสารคาม คุก นายก อบต.กราวรูด สูงสุด 140 ปี

คุ้ยเบื้องหลัง! ปิดฉากมหากาพย์ทุจริตสอบ พนง.ส่วนตำบล จ.มหาสารคาม สุดฉาว ปี 57 ป.ป.ช.ชี้มูลผิดกราวรูด 147 ราย ใช้เวลา 9 ปี ก่อนศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 4 พิพากษาจำคุกจำเลยที่เกี่ยวข้อง โทษสูงสุด 140 ปี แต่ติดจริง 50 ปี อดีตหัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาฯ โดนด้วย

คดีทุจริตสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เมื่อปี 2557 โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กว่า 31 แห่งถูกร้องเรียนตรวจสอบ กระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ผู้บริหารใน อบต. ข้าราชการ รวมถึงอดีตหัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนเกือบร้อยราย ที่เข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ปัจจุบันผ่านมาราว 9 ปี คดีนี้มาถึง “บทสรุป” แล้ว เมื่อเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่ข้อมูลว่าบรรดานายก อบต. ผู้บริหาร และคนที่เกี่ยวข้อง ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกกราวรูด 

โดยมีอยู่ 2 รายที่ถูกโทษจำคุกสูงสุดถึง 140 ปี ได้แก่ นายวรวิทย์ ปักกาโล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และนายอร่าม ศิริพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกรายคือ นายรัชพล ณะโธสง อดีตนายก อบต.หนองกุง ถูกศาลพิพากษาจำคุก 100 ปี

อย่างไรก็ดีเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้คงโทษจำคุกรายละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)

สำหรับรายชื่อบุคคลที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 4 พิพากษาจำคุก เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม รวมจำเลยอย่างน้อย 85 ราย ดังนี้

  1. นายวรวิทย์ ปักกาโล พันจ่าเอก คมสันต์ บุญศร  อดีตนายก อบต.หนองเรือ อ.นาเชือก นายสมบูรณ์ นาเพีย อดีตนายก อบต.เขวาไร่ อ.นาเชือก นายเชาวลิต จันทวะฤทธิ์ ปลัด อบต.ภารแอ่น อ.พยัคฆภูมิพิสัย กับพวกรวม 37 ราย โดยจำคุกนายวรวิทย์ 140 ปี แต่ติดจริง 50 ปี จำคุก พันจ่าเอกคมสันต์ 84 ปี 112 เดือน แต่ติดจริง 50 ปี จำคุกนายสมบูรณ์ 2 ปี (เจ้าตัวรับสารภาพ) และจำคุกนายเชาวลิต 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 27 และที่ 36
  2. นายทองใบ บาระพรม อดีต นายก อบต.ลาดพัฒนา อ.เมืองมหาสารคาม กับพวกรวม 28 ราย โดยนายทองใบ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 21 ปี 6 เดือน
  3. นายรัชพล ณะโธสง อดีตนายก อบต.หนองกุง อ.นาเชือก กับพวกรวม 20 ราย โดยรายของนายรัชพล ถูกพิพากษาจำคุก 100 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้คงโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ยกฟ้องจำเลยที่ 15 และจำเลยที่ 20

ต้นตอของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม อย่างน้อย 31 แห่ง โดยมติของ ก.อบต.มหาสารคาม ให้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล โดยกำหนดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เป็นหน่วยงานกลางออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ อบต. 12 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาฬสินธุ์ ดำเนินการ 19 แห่ง

ต่อมาประมาณปลายปี 2557 พบว่า การสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เบื้องต้น 3 อบต. ได้แก่ อบต.โคกก่อ อบต.ลาดพัฒนา และ อบต.ห้วยแอ่ง ประกาศผลสอบผู้เข้าแข่งขันได้ โดยที่คะแนนไม่ตรงตามเกณฑ์ที่ ก.อบต.มหาสารคาม กำหนด (ต้องได้คะแนนภาค ก เกิน 50 คะแนน และภาค ข เกิน 50 คะแนน)

คะแนนที่ มรภ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางออกข้อสอบของ อบต. ทั้ง 3 แห่งข้างต้น พบว่า ไม่มีผู้เข้าสอบรายใดผ่าเนกณฑ์กำหนดดังกล่าว แต่ อบต. ทั้ง 3 แห่งกลับประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การสอบได้ทั้งหมด

ต่อมา มติที่ประชุม ก.อบต.มหาสารคาม มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริง โดยปรากฏชื่อของเลขานุการ ก.อบต.มหาสารคาม (นายยุทธเดช พลอยสังวาลย์ ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการสอบสวน แต่ต่อมากลับยุติผลการสอบสวนโดยอ้างว่า เลยระยะเวลาที่ต้องรายงานผลการสอบสวนแก่ที่ประชุม ก.อบต.มหาสารคาม แล้ว

ทั้งที่นายยุทธเดช เป็นถึงเลขานุการ ก.อบต.มหาสารคาม และเป็นประธานกรรมการสอบสวนฯ แต่กลับไม่รู้กรอบเวลาว่าควรรายงานผลสอบเมื่อใด นอกจากนี้ยังไม่เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น และ มรภ.กาฬสินธุ์ มาสอบสวนด้วย

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลดังกล่าวขึ้น มีการร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.มหาสารคาม เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่า มีผู้เกี่ยวข้องบางรายใน ก.อบต.มหาสารคาม พยายามต่อสายตรงคุยกับ “ผู้บริหารระดับสูง” ในจังหวัด เพื่อให้ยุติเรื่องดังกล่าว แต่คราวนี้ไม่เป็นผล

หลังจากนั้นประมาณช่วงปี 2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามเป็นประธานกรรมการสอบฯ กระทั่งมีผลสรุปว่า

1.กรณีการสอบแข่งขันในปี 2557 มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาฬสินธุ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ แบ่งเป็น มรภ.กาฬสินธุ์ จัดสอบให้กับ อบต. 19 แห่ง มีผู้สมัครสอบ 1,421 คน มีผู้สอบได้ 422 คน ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบล 167 คน

เบื้องต้น คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบกับคะแนนของ มรภ.กาฬสินธุ์ พบว่า มีผู้สอบผ่านซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลเพียง 1 คน และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) มีมติเพิกถอนคำสั่งบรรจุพนักงานส่วนตำบลทั้ง 19 แห่ง และให้ประกาศผลคะแนนใหม่ตามผลคะแนนของ มรภ.กาฬสินธุ์ แล้ว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสอบให้กับ อบต. 12 แห่ง มีผู้สมัครสอบ 510 คน มีผู้สอบได้ 236 คน และมีการบรรจุพนักงานส่วนตำบลไปแล้ว 101 คน

ขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้สอบผ่านซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเพียง 4 คน

หลังจากนั้น ได้รายงานผลการสอบสวนไปยัง ก.อบต.กลาง กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่กับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และรายงานไปยัง รมว.ยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ตำแหน่งขณะนั้น) ในฐานะรองประธาน คตช. (คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ปัจจุบันไม่มีแล้ว) พิจารณาลงโทษทางปกครองกับผู้บริหาร อบต. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ปิดฉากมหากาพย์โกงสอบท้องถิ่น จ.มหาสารคาม คุก นายก อบต.กราวรูด สูงสุด 140 ปี

2.กรณีการสอบแข่งขันในปี 2556 มี มรภ.กาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ จำนวน 10 แห่ง พบว่า มีการประกาศผลสอบผู้สอบแข่งขันได้ 267 คน บรรจุไปแล้ว 101 คน แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผลคะแนนของ มรภ.กาฬสินธุ์ พบว่า มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ได้บรรจุเพียง 85 คน

ขณะที่ อบต.แวงน่าง พบว่า มีการทุจริต ปลอมแปลงเอกสารประกาศผลคะแนนการสอบภาค ก. และภาค ข. โดยการปลอมแปลงลายมือชื่อและดวงตราประทับของ มรภ.กาฬสินธุ์

กรณีนี้มีการร้องศาลปกครองชั้นต้น จ.ขอนแก่น และศาลฯมีคำสั่งให้เพิกถอนบัญชีรายชื่อผู้สอบได้

ส่วนอีก 9 แห่ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ร้องขอผลคะแนนการสอบแข่งขันไปที่ มรภ.กาฬสินธุ์ และ อบต. ทั้ง 9 แห่ง มาดำเนินการตรวจสอบและเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏว่า มี อบต. จำนวน 8 แห่ง มีผลคะแนนไม่ตรงกัน และบางรายขาดสอบ แต่ปรากฏรายชื่อเป็นผู้สอบได้

หลังจากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้ส่งผลสรุปการสอบข้อเท็จจริงให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนต่อ กระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยมีผู้ถูกกล่าวหานับร้อยราย

ต่อมาเมื่อต้นปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยในล็อตนี้ปรากฏชื่อนายก อบต. จำนวน 32 รายในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ถูกสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับผลตอบแทนด้วย

หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม มีคำสั่งไล่ออกนายก อบต. ทั้ง 32 แห่ง พร้อมกับให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. เพิ่มเติม กรณีมีการเรียกรับเงินรายหัว หัวละ 5-6 แสนบาท เพื่อให้ผู้สมัครสอบได้รับบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลได้

ในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีนี้อย่างน้อย 3 ลอต ปรากฎชื่อ 5 อดีตนายก อบต. 17 ก.อบต.มหาสารคามทั้งคณะ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมอย่างน้อย 147 ราย และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 

กระทั่งศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วอย่างน้อย 85 ราย ตามที่นำเสนอไปข้างต้น

นับเป็นการปิดฉากมหากาพย์การทุจริตที่กินเวลากว่า 9 ปี ถึงจะมีบทสรุป และน่าจะเป็น “กรณีศึกษา” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะดำเนินการจัดสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนตำบลต่อไปในอนาคต