ย้อนนโยบายหาเสียง “แรงงาน” ขายฝัน “ค่าจ้าง” กับดักการเมือง

ย้อนนโยบายหาเสียง “แรงงาน” ขายฝัน “ค่าจ้าง” กับดักการเมือง

นโยบายหาเสียงของหลาย "พรรคการเมือง" ในช่วงเลือกตั้ง ปี62 ล้วนตื่นเต้น เร้าใจ หวัง ดึงคะแนนเสียงจากคนใช้แรงงาน ที่นับเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่เมื่อมีโอกาสเป็นฝ่ายบริหาร กลับไม่สามารถผลักดันสิ่งที่หาเสียงเอาไว้ได้ กลายเป็นนโยบายทิพย์ถึงทุกวันนี้

ปัญหาแรงงานแทบทุกมิติ ถูกบรรดาพรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียง โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิ สวัสดิการต่างๆ และในความเป็นไปได้ ก็มีเพียงพรรครัฐบาลเท่านั้น ที่สามารถจะผลักดันข้อเสนอที่เป็นนโยบายต่อประชาชนได้ 

ผ่านมาถึงเทอมสุดท้ายของรัฐบาลจากเลือกตั้งปี 2562 การขับเคลื่อนนโยบายแรงงานของรัฐบาล กลับยังถูกเครือข่ายแรงงานต่างๆ ทวงถามเป็นระยะ เมื่อส่วนใหญ่ยังเป็นนโยบายทิพย์ 

ย้อนไปดูข้อเสนอที่หลายพรรคการเมืองหาเสียงในการเลือกตั้ง 2562 ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายแรงงานมากน้อยแค่ไหน และนโยบายใดที่ทำได้ และไม่มีโอกาสได้ทำ 

พปชร.ค่าแรง 425/วัน -ป.ตรี 2 หมื่น

พลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาล หลายนโยบายในช่วงหาเสียง มักจะได้ยินมอตโต้ที่ว่า “ทำจริง ทำได้ ทำทันที” ทว่า นโยบายด้านแรงงานของ พปชร.ที่มักถูกหยิบยกมาโจมตีอยู่เสมอ โดยเฉพาะ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท จบปริญญาตรี เงินเดือน 20,000 บาท จบอาชีวะ เงินเดือน 18,000 บาท ส่วนพนักงานเงินเดือนจะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ในทุกขั้นบันได คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี ยกเว้นภาษีค้าขายออนไลน์ 2 ปี 

อุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร.ขณะนั้น ระบุว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยเกิดขึ้น จึงต้องปรับเปลี่ยนและต้องเสียสละให้เกิดการพัฒนา ควบคู่ไปกับการดูแลความเหลื่อมล้ำ ทั้งภาคเกษตรและแรงงาน แนวทางขึ้นค่าแรงของพรรคจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการ การเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ เงินเดือนปริญญาตรี อาชีวะ จะดูเป็นพื้นที่ เพื่อปรับให้เหมาะสม

นโยบายของพปชร.อยู่ในพื้นฐานความเป็นจริงและสอดรับกับสถานการณ์โลกไม่ใช่ขึ้นแบบลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไปแต่มีวิธีปฎิบัติที่ทำได้จริง และมีมาตรการที่จะไม่กระทบกับการลงทุน แต่จะส่งผลดีเพราะมีแรงงานที่มีทักษะสูง และจะดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น เพื่อขยับประเทศไทยเพื่อให้ไปอยู่ในแถวหน้า

กระทั่งปีต่อๆ มา เมื่อถูกทวงถาม แกนนำ พปชร.จึงพลิกสถานการณ์ว่า ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนเพราะการขยับขึ้น 400-425 บาทในทีเดียวจะมีผลกระทบต่อภาคเอกชน และเป้าหมายที่แท้จริงคือการยกระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งต้องปรับทั้งระบบ แรงงานไทยจึงจะสามารถขึ้นค่าแรงให้สูงตามคุณภาพฝีมือแรงงาน ไม่เช่นนั้นจะไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีและตลาดแรงงานในปัจจุบัน

 

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายแรงงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดต้นปี ก.พ.2565 มีการรวมตัวกันมาทวงถามนโยบายหาเสียงของ พปชร.จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล ถึงทำเนียบฯ

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ พปชร.ไม่สามารถทำนโยบายที่หาเสียงได้ มาจากการเป็นรัฐบาลผสม ไม่ได้คุมกระทรวงสำคัญที่มีส่วนให้การดำเนินนโยบาย ซึ่งล้วนเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล

รวมถึงความขัดแย้งภายในพรรค ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง คนที่มีความรู้ความสามารถไม่สามารถทำงานขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ในพรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเพราะเกมการเมืองภายใน จนทำให้หลายคนตัดสินใจลาออกจากพรรค ดังนั้น พปชร.วันนี้ก็ยังคงติดกับดักตัวเองในเรื่องนโยบายขายฝัน พูดแล้วทำไม่ได้จริง

 

ปชป.ประกันรายได้ 1.2 แสนบาทต่อปี

ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้การนำของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ในขณะนั้น ปชป.ชูนโยบายค่าแรงคือ “ประกันรายได้แรงงาน” 1.2 แสนบาทต่อปี เท่ากับว่า จะมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่อย่างน้อย 10,000 ต่อเดือน หรือประมาณ 333 บาทต่อวัน 

ทว่า ในปัจจุบันกระทรวงแรงงานภายใต้การนำของ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 315-331 บาทต่อวัน หรือ 9,450-9,930 บาทต่อเดือน หรือ 113,400-119,160 ต่อปี ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่ได้หักลบในส่วนที่แรงงานจะต้องถูกหักในกรณีหยุดงานหรือเป็นค่าใช้จ่ายที่อื่นๆ ในแต่เดือน เช่นในส่วนของการสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมรวมถึงส่วนอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะที่นโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานในภาพรวม ปชป. เสนอจัดทําแผนแม่บทการผลิตและจัดหากําลังแรงงาน ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน โดยปรับอัตราค่าจ้างด้วยการประกันรายได้ ดําเนินการให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานแรงงานไทย พัฒนาและฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้มีความรู้และทักษะฝีมือ ปฏิรูประบบประกันสังคมขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรส ปรับปรุงระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีฯ 

น่าสนใจว่า ปชป.ลงรายละเอียดมากมายในนโยบาย แต่ที่สุด เมื่อไม่ได้คุมกระทรวงแรงงานเป็นหลัก จึงอาจได้ลุ้นได้แค่นโยบายโหนกระแส  

 

ภท.เน้นเชิงโครงสร้าง-ชทพ.พัฒนาทักษะ

สำหรับพรรคภูมิใจไทย การหาเสียงด้านแรงงาน มีเพียงนำเสนอการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการทำงาน โดยไม่มีนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะเน้นไปที่สวัสดิการของผู้ใช้แรงงานโดยนโยบายหลัก ประกอบด้วย ทำงานที่บ้าน 1 วันต่อสัปดาห์ ลดการใช้สำนักงานอาคาร 1 แขวง 1 Co-Working Space สร้าง Co-Working Space บนที่ดินรัฐ แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคการทำมาหากิน

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กำหนดนโยบายด้านแรงงาน ไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสังคม โดยมีสาระหลัก คือ การพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับตลาดแรงงาน  คุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน เด็ก และสตรี ส่งเสริมให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ และกระบวนการในการระงับข้อพิพาทแรงงานที่รวดเร็ว และเคร่งครัดต่อการจัดระบบความปลอดภัยในการทำงาน ให้สวัสดิการแก่ผู้ใช้แรงงาน สนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานมีเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

เมื่อเวลาผ่านไป การผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม ดูเหมือนยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ชทพ.ขายฝันกับผู้ใช้แรงงาน ยกเว้นแต่งานในสภาฯ ที่ส.ส.ของพรรคร่วมผลักดัน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

 

พท.ค่าแรงขั้นต่ำ 400/วัน-อนค.450/วัน 

นโยบายด้านแรงงาน ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ต้องการจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และการันตีเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี 18,000 บาทต่อเดือน ขณะที่นโยบายในภาพกว้าง เสนอเอาไว้ 8 ข้อ  

ในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่(อนค.)ภายใต้การนำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจขณะนั้น ดำเนินนโยบายผ่านปีกแรงงานของพรรค โดยจะผลักดันให้ออกกฎหมายที่กำหนดให้ขึ้นค่าจ้างตามอายุงาน ขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 450 บาท รวมถึงลดเวลาทำงานเหลือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เพิ่มค่าล่วงเวลา จากที่เพิ่มจากค่าแรงปกติ 1.5 เท่า เป็น เพิ่มจากค่าแรงปกติ 2 เท่า มีโครงการสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตายเพื่อรองรับการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังผลักดันเรื่องสิทธิของแรงงาน รวมถึงผลิตทนายความเพื่อไปประจำทุกจังหวัด ทำคดีความให้ผู้ใช้แรงงานฟรี

เมื่อต้องมาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เคยยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ รวม 7 ฉบับ แต่ถูกตีตกไปต่อมาภายหลังถูกยุบพรรค จนกลายร่างมาเป็นพรรคก้าวไกล(กก.)ในปัจจุบัน ยังคงชูนโยบายเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการแรงงานอยู่เหมือนเดิม โดยเมื่อต้นปี 2565 ปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานรวม 10 ฉบับ สาระสำคัญหลัก ๆคล้ายคลึงกับนโยบายสมัย อนค. ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเข้าที่ประชุมสภาฯ

อดีต รมว.แรงงาน เผดิมชัย สะสมทรัพย์ สะท้อนปัญหาตรงไปตรงมาว่า "การผลักดันนโยบายแรงงานของพรรคร่วมรัฐบาล ทำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งการทำงานด้านแรงงานของรัฐบาลปัจจุบันต้องขึ้นอยู่กับว่าใคร พรรคใดเป็นรัฐมนตรี เพราะเขาต้องทำตามแผนของพรรค แม้บางเรื่องจะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการแจกเงิน ชดเชยด้วยการให้เงินเปล่าๆ แทนการสร้างงาน ใช้กลไกลรัฐที่มีเพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่"