เช็คลิสต์ 4 ปี กฎหมายแรงงาน ผลงาน “ส.ส.” รอวัดใจรัฐบาล

เช็คลิสต์ 4 ปี กฎหมายแรงงาน ผลงาน “ส.ส.” รอวัดใจรัฐบาล

เกือบ4ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า งานสภาฯ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน เพื่อยกระดับสิทธิผู้ใช้แรงงาน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมตามสภาพเศรษฐกิจ ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลคือ รัฐบาล ยังไม่ใจใส่ เรื่องนี้มากพอ

         นับจากการเข้ามาของ “สภาผู้แทนราษฎร” ชุดที่ 25 จากปี 2562 - 2565 พบว่ามี ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน ผ่านชั้นนิติบัญญัติ ทั้งรับหลักการ และได้รับความเห็นชอบตราเป็นกฎหมายเพียง 2 ฉบับ พบว่าถูกตีตก 1 ฉบับ และมีอีก 5 ฉบับที่รอวัดใจ “รัฐบาล” ว่าจะยอมให้บรรจุเข้าสู่วาระหรือไม่

 

         สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ที่ “ส.ส.” ร่วมกันเสนอ และผลักดัน มีเพียงฉบับเดียวที่ ผ่านวาระแรกคือ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และส.ส.ภูมิใจไทย ร่วมกันเสนอ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ตามการเรียกร้อง และกดดันจากพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล 

เช็คลิสต์ 4 ปี กฎหมายแรงงาน ผลงาน “ส.ส.” รอวัดใจรัฐบาล

         ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย “สุเทพ อู่อ้น" ส.ส.สายแรงงานของพรรคก้าวไกล เคยผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน  เมื่อปี 2563 แต่ถูกตัดตอนก่อนเข้าสภาฯ เนื่องจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ไม่ให้คำรับรอง เนื่องด้วยเห็นว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 

 

นอกจากนั้น ยังมีอีก 5 ฉบับที่ ส.ส.ในสภาฯ  จากพรรคก้าวไกล เสนอให้สภาฯ พิจารณา โดยเสนอเรื่องเมื่อกุมภาพันธ์ 2565 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ ได้แก่ 

1. แก้ไขเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขยายกรอบการบังคับใช้กฎหมาย ให้ครอบคุมการจ้างงานลูกจ้างในหน่วยงานของภาครัฐ  เพื่อให้มีมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ 

2.แก้ไขเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 15  ว่าด้วย บทกำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ลูกจ้างไม่ว่าจะมีถิ่นฐาน เพศ ภาษา เชื้อชาติ หรือความคิดเห็นทางการเมืองแบบใด รวมถึงกำหนดสิทธิลูกจ้างต้องได้รับสิทธิประโยชน์ การเลื่อนขั้น เงินเดือน ที่เท่าเทียมตามกฎหมายจ้างงาน

3.แก้ไขเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 30  แก้ไขว่าด้วยสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างเมื่อทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน

4.แก้ไขเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 87 ว่าด้วยการแก้ไขหลักเกณฑ์กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามสภาพเศรษฐกิจ หรืออัตราเงินเฟ้อ

เช็คลิสต์ 4 ปี กฎหมายแรงงาน ผลงาน “ส.ส.” รอวัดใจรัฐบาล

5.แก้ไขเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  มาตรา 5 มาตรา 15 มาตรา 23 เพิ่มเติมมาตรา 23/1 มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 53 และมาตรา 87 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยฉบับนี้เสนอเข้าระบบของสภาฯ เมื่อ 16 มีนาคม 2565 

         สำหรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับ “แรงงาน” ซึ่งได้รับเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และผ่านชั้นวุฒิสภา เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2565  และรอในประกาศราชกิจจานุเบกษา  คือ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน  ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ

 

         ทว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ดูเหมือนไม่ใช่การยกระดับคุณภาพหรือศักยภาพผู้ใช้แรงงาน แต่คือการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับควบคุมและพิจารณาคดีแรงงาน

 

         ขณะที่บทบาทของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ต่อการเป็นปากเสียงของ “ผู้ใช้แรงงาน” นั้น จากการตรวจสอบในเว็ปไซต์ของสภาฯ พบว่า มีการเสนอญัตติ 1 เรื่อง คือ ให้สภาฯ พิจารณาตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาและหามาตรการแก้ไขปัญหาอัตราการว่างงานของแรงงานไทยและการปิดกิจการของนายจ้าง  เสนอ 20 กุมภาพันธ์  2563 ยังรอการพิจารณาของสภา

เช็คลิสต์ 4 ปี กฎหมายแรงงาน ผลงาน “ส.ส.” รอวัดใจรัฐบาล

         ส่วนกระทู้ถาม เกี่ยวกับแรงงาน พบว่ามีจำนวน  8 กระทู้  แบ่งเป็น รัฐมนตรีตอบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 4 เรื่อง อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่  2 เรื่อง และ อีก 2 เรื่อง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนใหญ่เป็นกระทู้ถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เช่น การเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานเพราะโควิด-19

 

         เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา กฎหมาย และการช่วยเหลือ แก้ปัญหาแรงงาน มีสภาพอย่างที่เห็น และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันแรงงานแห่งชาติทุกปี โดยเฉพาะค่าจ้างที่ตามไม่ทันปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน โดยที่นโยบายโฆษณาหาเสียงของพรรครัฐบาล ทำไม่ได้ และไม่ได้ทำ.