"ไพบูลย์" ดับฝัน ฟื้นสูตรคำนวณปันส่วนผสม - หากดันจนผ่าน จ่อยื่นศาลรธน.

"ไพบูลย์" ดับฝัน ฟื้นสูตรคำนวณปันส่วนผสม  - หากดันจนผ่าน จ่อยื่นศาลรธน.

ไพบูลย์ เชื่อ ส.ส.-ส.ว. ไม่ทำขัดรธน. หลังมีความพยายามดันสูตรคำนวณปันส่วนผสม ใช้ 500หาร ชี้ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ-ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

             นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ.  รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... ให้เป็นแบบพึงมี โดยใช้จำนวน ส.ส. 500 หารเพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ว่า กรณีใช้ตัวเลข 500 หารนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญและขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทั้ง4ฉบับซึ่งรัฐสภารับหลักการ กำหนดให้ใช้ตัวเลข 100 หาร และในการประชุม กมธ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้ระบุชัดเจนว่าต้องใช้ตัวเลข 100 หาร และไม่เห็นด้วยที่จะใช้ 500 หาร ดังนั้นจึงเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

        "กรณีจะให้จำนวน 500 มาเฉลี่ยก็จะทำให้ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกเสียงลงคะแนนในบัตรบัญชีรายชื่อ ในเมื่อประชาชนออกเสียงมาให้พรรคนี้ได้ส.ส.จำนวนเท่านี้ แล้วทำไมต้องไปทำลายเจตนารมณ์โดยใช้ 500 หาร ในฐานะที่ตนสังกัดพรรคพลังประชารัฐ หากไปใช้ 500 หารทางพรรคพลังประชารัฐก็จะเสียหาย  และตนไม่สามารถที่จะเห็นชอบได้   ส่วนการพิจารณาประเด็นสูตรคำนวณนั้น คาดว่าวันที่ 11 พฤษภาคมจะลงมติ และตนเชื่อว่า ส.ส.และส.ว.​จะไม่ทำอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่หากที่ประชุมกมธ.วิสามัญฯ และรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้ 500 หาร ผมขอสงวนสิทธิ์เพื่อไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ" นายไพบูลย์ กล่าว

           เมื่อถามต่อว่าการแก้ไขร่างพ.ร.ป. สามารถกำหนดส.ส.พึงมี เพื่อกลับไปใช้ระบบ จัดสรรปันส่วนผสมได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วยการเริ่มจากกระบวนการเข้าชื่อกัน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มีใครเอาด้วย เนื่องจากต้องรวบรวมรายชื่อส.ส.เกือบ 100 คน

 

              เมื่อถามอีกว่า การแก้กฎหมายลูกครั้งนี้ต้องกลับไปล้อระบบเลือกตั้งเหมือนปี 40 และปี 54 หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า “ไม่เชิงครับ  หลายเรื่องก็ไม่ตรงกัน เช่นเรื่องการนับคะแนน  เรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่หารด้วย 100 ก็ไม่มีเพดานไว้คือพรรคที่มีส.ส.ไม่ถึงจำนวนเต็มตามร่างของคณะรัฐมนตรีก็ยังมีสิทธิ์ถ้าเศษเหลือมากก็ยังมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นส.ส.ด้วย ซึ่งแตกต่างจากปี 54 และผมเชื่อว่าประเด็นนี้จะยุติด้วยการใช้ 100 หารอยู่แล้ว ส่วนหารด้วย 500 เป็นความต้องการของกลุ่มการเมืองที่เป็นนักการเมืองด้วยกันที่อยากได้แบบนั้น แต่มันจบไปตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว”