"กมธ.กม.ลูก" ชี้ มี2ปม ถูกจ้องส่งศาลตีความ ขัดกับ "รัฐธรรมนูญ"

"กมธ.กม.ลูก" ชี้ มี2ปม ถูกจ้องส่งศาลตีความ ขัดกับ "รัฐธรรมนูญ"

"ปดิพัทธ์" แถลงผลประชุมกมธ.กม.ลูก เติมเนื้อหา ให้การกำกับลงคะแนน เอาผิดได้ 3ระดับ คือ พรรค, ส.ส.เขต,ส.ส.บัญชีรายชื่อ ชี้มีปมที่ถูกจ้องส่งศาลรธน.ตีความ

           นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา แถลงผลการประชุม กมธ. ซึ่งพิจารณาเนื้อหาของร่างมาตรา 12 ซึ่งแก้ไขมาตรา 73 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นข้อห้ามให้ผู้ใดจูงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือ งดเว้นการลงคะแนนให้แก้ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใด โดยมติของที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มคำว่า พรรคการเมืองใด ด้วย เพื่อให้มีความชัดเจนต่อการเอาผิด ซึ่งมาตรานี้ จะหมายถึง ผู้สมัคร ส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ พรรคการเมือง อย่างไรก็ดีในที่ประชุม กมธ. ไม่ได้พิจารณาว่า การเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าว หากพบความผิด จะนำไปสู่การยุบพรรคซึ่งเป็นสถาบันการเมืองหรือไม่ เนื่องจากเนื้อหานั้นไม่เกี่ยวโยงกัน

 

 

           นายปดิพัทธ์ กล่าวด้วยว่า จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างมาตรา 13 แก้ไขมาตรา 84 ว่าด้วยวิธีการออกเสียงลงคะแนน เลือกส.ส. โดยร่างเนื้อหาที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับ ตัดวรรคท้ายที่กำหนดให้ใช้การออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ทำให้ ที่ประชุมต้องพิจารณาเนื้อหาว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย คือ การกำหนดเรื่องการออกเสียงโดยวิธีอื่น นอกจากการลงคะแนนบัตรเลือกตั้ง อาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่มองว่าการออกเสียงโดยวิธีอื่นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

 

           เมื่อถามว่าการพิจารณาร่างมาตรา 13 ของกมธ. ตีความไว้อย่างแคบใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า กมธ.พิจารณาตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมองว่าตีความแบบแคบได้ อีกทั้งหากพิจารณาความที่เกินกว่านั้นอาจนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้

           “ในการแก้ไขพ.ร.ป. ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอยู่แล้ว แต่ในขณะนี้อาจมีประเด็นที่มีผู้เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งในประเด็นสูตรคำนวณ รวมถึงประเด็นการลงคะแนนเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีส่วนตัวมองว่าการลงคะแนนด้วยวิธีอื่นนั้น ในการใช้ในประเทศไทยอาจไม่มีความพร้อม เพราะเงื่อนไขการลงคะแนนตรงและลับ ที่หมายถึงการลงคะแนนผ่านระบบสายแลน ไม่ใช่การลงคะแนนออนไลน์ หรือ ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย”นายปดิพัทธ์ กล่าว.