ถอดรหัส “30 เสียงรัฐบาล” เกมล้มประยุทธ์?

ถอดรหัส “30 เสียงรัฐบาล”  เกมล้มประยุทธ์?

บทเรียนจากศึกซักฟอกรอบที่แล้ว อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องแก้เกมสองชั้นเสกัด “แผนล้ม” ขณะที่มหกรรม “แจกกล้วย” ครั้งสำคัญต้องจับตา “พี่ใหญ่ตระกูล ป.” ว่าจะสามารถกล่อม “ผู้กองธรรมนัส” ขอ “16 เสียงเศรษฐกิจไทย” รวมถึงพรรคเล็กได้สำเร็จหรือไม่?

ท่ามกลางสัญญาณการเมืองที่เริ่มปรากฎภาพบรรดาพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ส่งสัญญาณจัดทัพรับศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ทว่า ก่อนหน้าบรรดา “บิ๊กรัฐบาล” ต่างออกมาส่งสัญญาณ พร้อมยืนยันเสียงแข็ง จะ “ยื้อยุทธ์” อยู่ครบเทอมไปจนถึงปี 2566 

เป็นเช่นนี้ จึงต้องไปลุ้น “ศึกใหญ่” ที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะ “ศึกซักฟอก” ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา151  หลังเปิดประชุมสภา 22 พ.ค.นี้

ศึกรอบนี้ ฝ่ายค้านพยายามประโคมโหมโรงมาแต่ไก่โห่ว่า ข้อมูลที่มี บวกปมร้อน ปมฉาว ที่เกิดขึ้น ทั้งกรณี “คลิปเสียง” คนใกล้ชิดนายกฯ พูดเรื่องโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ประเด็นการซื้อเรือดำน้ำ ที่ตามมาด้วยข้อสงสัยต่างๆ นานา รวมถึงเรื่องส่อทุจริตอื่นๆ

“เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ของรัฐบาล ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็จะลำบากใจ หากจะยกมือสนับสนุน”

 เหนือไปกว่านั้น “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พยายามประโคมโหมโรงไว้ว่า “ด้วยข้อมูลที่ฝ่ายค้านมี จะสามารถโน้มน้าว ส.ส.30 เสียงฝั่งรัฐบาล มาร่วมลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีได้”

ทว่า เมื่อลองถอดรหัสสมการตามที่ “หมอชลน่าน” พูดถึง อันที่จริงตัวเลข “ 30 ส.ส.” ฝั่งรัฐบาล ก็ไม่ใช้ตัวเลขที่แปลกใหม่ หรือน่าตื่นเต้น หากลองเทียบเคียงกับคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด เมื่อช่วงเดือน ก.ย.2564 ท่ามกลางกระแส "เกมล้มประยุทธ์" 

พบว่า ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสียรังวัดจากผลคคะแนนที่ออกมาซึ่งได้รับคะแนน “ไม่ไว้วางใจ”มากสุดในบรรดารัฐมนตรี ทั้ง 6 คน

โดยนายกฯ ได้คะแนน “ไม่ไว้วางใจ” 208 เสียง สาเหตุมาจาก 1.พรรคเล็กเสียงแตกในการโหวต 2.ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ พรรคเพื่อชาติ 5 คน ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ทั้งหมด แต่การลงมติให้รัฐมนตรีอีก 5 คน เพื่อชาติ 4 คน“งดออกเสียง” จึงทำให้คะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ มากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ

ขณะที่คะแนน “ไว้วางใจ” ในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ 264 คะแนน จาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของพลังประชารัฐ ที่เวลานั้นมี 119 เสียงลงมติแบบ “ไม่แตกแถว” ไม่เว้นแม้แต่ “ผู้กองธรรมนัส” พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และเลขาธิการพรรค พปชร.เวลานั้น ที่ตกเป็นข่าวตัวตั้งตัวตี ล็อบบี้เสียงล้มนายกฯ

ไม่ต่างจากพรรคภูมิใจไทย 61 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง ที่ลงมติแบบไม่แตกแถว  จะมีก็แต่พรรคประชาธิปัตย์ 48 เสียง ที่มีเพียง 2 รายคือ  อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่โหวตสวน ไม่ไว้วางใจ และ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่โหวต งดออกเสียง

ทว่า สถานการณ์การเมืองหลังเสร็จศึกซักฟอกรอบนั้น ได้แปรเปลี่ยนไป มีการปลด “ผู้กองธรรมนัส” พ้นรมช.เกษตรฯ นำมาสู่สถานการณ์การเมืองที่ถึง “จุดแตกหัก” ต่อมาผู้กองธรรมนัส นำทีม “18 ส.ส.พปชร.” ย้ายออกจากพรรค พปชร. 16 คนย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย อีก 3 คนย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล คือ ภูมิใจไทย 

ขณะที่พรรคเล็ก หรือ “พรรคปัดเศษ” แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ “ขั้วหนุนประยุทธ์” นำโดย “ชัช เตาปูน” หรือ “ชัชวาลล์ คงอุดม” แห่งพรรคพลังท้องถิ่นไท รวมกับพรรคประชาภิวัฒน์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังธรรมใหม่ เป็น 4-5 เสียง

ขณะที่พรรคเล็กส่วนที่เหลือ อาทิ พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ที่ยุบพรรคตัวเอง และย้ายไปสังกัด พปชร.  คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย หรือ สุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปไตยใหม่ เป็นที่รู้กันว่า เทไปอยู่ฝั่ง “ผู้กองธรรมนัส” 

ฉะนั้น หากเทียบสมการข้างต้น กับตัวเลข “30 เสียง ส.ส.รัฐบาล” ตามที่ “หมอชลน่าน” พูดถึง ตัวเลขดังกล่าวน่าจะมาจาก 16 เสียง จากพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ยามนี้ยังรอสัญญาณกดโหวต บวกกับเสียงพรรคเล็กใน “ขั้วธรรมนัส” และหากนับรวมกับ “พนิต” และ “อันวาร์” จาก ปชป. ซึ่งรอบที่แล้วโหวตสวน ก็จะอยู่ที่ 25-30 เสียง ใกล้เคียงกับที่หมอชลน่านระบุ 

สอดคล้องกับที่ “คฑาเทพ” เคยออกมาระบุก่อนหน้านี้ โดยกางตัวเลขกลุ่ม16+16 เสียง จากพรรคเศรษฐกิจไทยซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญ

สิ่งที่ต้องจับตาต่อ คือ มหกรรม “แจกกล้วย” ครั้งสำคัญหลังจากนี้  โดยเฉพาะในส่วนของ “พี่ใหญ่ตระกูล ป.” อย่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพปชร. ที่ต้องลุ้นว่า จะสามารถกล่อม “ผู้กองธรรมนัส” เพื่อขอให้ “16 เสียงพรรคเศรษฐกิจไทย” เทมาโหวตอุ้ม “พล.อ.ประยุทธ์” ได้สำเร็จหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีบทเรียนจากศึกซักฟอกรอบที่แล้ว มาครั้งนี้ อาจต้องแก้เกมสองชั้นเพื่อสกัด “แผนล้ม” ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนรอบที่แล้วได้อีก!!