"คำนูณ" ห่วง "กมธ.กม.ตำรวจ" แก้กม. ปิดช่องคลอด "ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา"

"คำนูณ" ห่วง "กมธ.กม.ตำรวจ" แก้กม. ปิดช่องคลอด "ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา"

"คำนูณ" เผย กมธ.แก้ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ตัดเนื้อหา ที่รองรับ ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ห่วงปิดช่อง ตราร่างกฎหมายปฎิรูปฉบับคู่กับ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ จี้รัฐบาลแสดงความชัดเจน ส่งให้รัฐสภาพิจารณา อย่าอ้างรอความสอดคล้อง

           นายคำนูณ สิทธิสมาน  ส.ว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ รัฐสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ต่อกรณีที่กมธ.เสียงข้างมากมีมติแก้ไขรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในประเด็นของกฎหมายว่าาด้วยการสอบสวนในคดีอาญา โดยกมธ.ได้ตัดข้อความที่เกี่ยวเนื่องออกจากบทบัญญัติมาตรา 6 (2) และ  มาตรา 55 (4) พร้อมแสดงความกังวลว่าจะเป็นการปิดกั้นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสอบสวนคดีอาญา ที่เป็นกฎหมายปฏิรูปฉบับที่คู่กับร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ให้อำนาจอัยการร่วมกับตำรวจดำเนินการสอบสวนคดีสำคัญ

 

 

           โดยนายคำนูณ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ.... ยกร่างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 แต่ยังไม่ส่งให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564  คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ชะลอการเสนอต่อรัฐสภา เพื่อรอความสอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  ทั้งนี้ในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่ระบุเพื่อรองรับ ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา  มี  2 มาตรา คือ มาตรา 6 (2) และ  มาตรา 55 (4)  แต่ขณะนี้พบว่า กมธ.เสียงข้าางมากมีมติให้ตัดออก หมายความว่า หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีอำนาจหน้าที่และการออกระเบียบและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับเดียว ต่อไปในอนาคตหากมี พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาหรือกฎหมายอื่นออกมากำหนดกระบวนการทำงานของข้าราชการตำรวจอีกก็จะเกิดปัญหาทันที เพราะกฎหมายหลักของตำรวจไม่เปิดช่องให้ปฏิบัติตาม จะมีข้อถกเถียงในทางหลักการตามมา

 

           "ผมแจ้งต่อฝ่ายเลขานุการว่าขอสงวนความเห็นให้คงไว้ตามร่างฯเดิมในมาตรา 6 (2) และ 55 (4)  เพื่อให้เปิดช่องไว้รองรับ ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาหรือกฎหมายอื่นในอนาคตนอกเหนือจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ร่างกฎหมายที่ว่านั้นจะมาหรือไม่ ส่วนมติของรัฐสภาจะเห็นเป็นอย่างไรสุดแล้วแต่” นายคำนูณ ระบุ

 

           นายคำนูณ ยังระบุด้วยว่า  ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กับร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เป็นกฎหมายคู่ โดยปกติรัฐบาลสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้พร้อมกัน และพิจารณาได้โดยกมธ.ชุดเดียวกันเพื่อให้เนื้อหาสอดคล้อง ป้องกันความลักลั่น แต่รัฐบาลเลือกส่งเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับเดียวสู่รัฐสภาเมื่อต้นปี 2564 ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาถูกชะลอ  ทั้งนี้เชื่อว่าเหตุผลสำคัญ เพราะ สตช. ฐานะหน่วยงานปฏิบัติคัดค้าน

 

 

           "หน่วยงานผู้ปฏิบัติคัดค้านไม่ใช่เรื่องแปลกโดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ที่จะเป็นการปฏิรูปใหญ่อย่างเรื่องการให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ แม้รัฐบาลรับฟัง แต่ไม่เหมือนกับต้องเชื่อฟังอย่างไรก็ดีรัฐบาลฐานะฝ่ายการเมืองย่อมมีนโยบายและต้องชี้แจงต่อประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลที่บริหารประเทศช่วงที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติบังคับในเรื่องการปฏิรูปประเทศควรจะปฏิบัติเช่นรัฐบาลทั่ว ๆ ไปหรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ควรกักร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาไว้ เร่งส่งเข้ามาให้รัฐสภาตัดสินใจจะดีกว่าหรือไม่ ผมมองว่ารัฐบาลควรต้องตอบคำถามในวาระครบ 5 ปีของการปฏิรูปประเทศที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้” นายคำนูณ ระบุ

           ทั้งนี้นายคำนูณให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในวันที่ 26 เมษายน กมธ. ได้นัดประชุมเพื่อตรวจรายงานของกมธ.ฯ  หากไม่มีปัญหาสามารถส่งให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้ก่อนเปิดสมัยประชุม วันที่ 22 พฤษภาคมนี้  อย่างไรก็ดีเนื้อหาภาพรวมแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด เหลือเพียงบางประเด็นที่ สตช. ขอปรับแก้บางมาตรา และที่ประชุมให้กฤษฎีการับไปพิจารณา.