พระราชินี สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงเข้าร่วมการประชุม Child Protection Summit , Bangkok 2024
พระราชินี เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงเข้าร่วมการประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วันนี้ (16 พฤษภาคม 2567) สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ไปทรงเข้าร่วมการประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เวลา 09.44 น.ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง นายสเวน ฟิลลิป โซเรนเซน (Mr. Sven Philip-Sörensen) ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ World Childhood Foundation นายชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์ และคุ้มครองเด็ก (Safeguard Kids Foundation) ประธานศาลฎีกา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องประทับรับรอง เพื่อทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมูลนิธิ World Childhood Foundation มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก และองค์การสหประชาชาติ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าห้องประชุม ESCAP HALL ทอดพระเนตรการกล่าวสิทธิเด็ก (Children Rights) 6 ข้อ ของมูลนิธิ World Childhood Foundation ในพระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน และการขับร้องบทเพลง You raise me up โดยคณะนักร้องเด็ก ประสานเสียง
ต่อจากนั้น สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 จบแล้ว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทาน พระราชดำรัสเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว
จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระราชินี ซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชวโรกาสให้ เลขาธิการมูลนิธิ World Childhood Foundation กับประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดการประชุม
ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย และทรงรับฟังการกล่าวสุนทรพจน์โดยบุคคลต่าง ๆ เสร็จแล้ว ทรงร่วมในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แล้วทรงร่วมรับฟังการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Key steps to reduce child sexual abuse online” และหัวข้อ “Protecting children from sexual abuse : Challenges and Key steps forward”
จากนั้น สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน พระราชทานพระราชดำรัสปิดการประชุมในหัวข้อ “Have a better future” เสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทอดพระเนตรการแสดงร้องเพลง Better Tomorrow โดยคณะนักร้องเด็กประสานเสียง และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายลูกแก้วจากผู้แทนคณะนักร้องเด็กประสานเสียงดังกล่าว แล้วเสด็จออกจากห้องประชุม ESCAP HALL ไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “ความจริงที่คนไทยไม่รู้” (The Hidden Truth in Thailand) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ และสิทธิความเท่าเทียมกันของเด็ก
จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีทรงมีพระราชปฏิสันถาร และทรงทูลลาสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความยั่งยืนและนวัตกรรม และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสาวซูมี โร (Ms. Soomi Ro) ผู้บริหารคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับนิทรรศการดังกล่าว สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง
เสด็จพระราชดำเนินกลับ
การประชุม Child Protection Summit, Bangkok 2024 ครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมูลนิธิ World Childhood ในพระราชินูปถัมภ์สมเด็จพระราชินีซิลเวียเเห่งสวีเดน ร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และการเเสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกันช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในประเทศต่าง ๆ และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงเอาพระราชหฤทัยใส่กับเด็ก เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาโดยตลอด ดังพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”