คณะผู้แทนไทยร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 ไต้หวัน (SCSE 2024)

คณะผู้แทนไทยร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 ไต้หวัน (SCSE 2024)

คณะผู้แทนไทยร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 ไต้หวัน (SCSE 2024) พร้อมเข้าเยี่ยมสภานิติบัญญัติไต้หวัน หวังส่งเสริมข้อตกลงทางการค้าไต้หวัน-ไทย

นิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024  (Smart City Summit & Expo – SCSE 2024) ครั้งที่ 11 ได้จบลงอย่างสวยงามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมหกรรมในปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าครั้งไหนๆ โดยมีคณะผู้ร่วมงานจากประเทศไทยโดดเด่นเป็นที่จับตา  ชิต ลี (Chit Lee) ผู้รับผิดชอบดูแลคณะจากไทยในการมาร่วมงานที่ไต้หวัน ได้นำคณะเข้าพบ เจียงฉี่เฉิน (Johnny Chiang)รองประธานสภานิติบัญญัติไต้หวันในระหว่างช่วงนิทรรศการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันระหว่างไต้หวันและไทย พร้อมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายงบประมาณมาตรา 62 (1) ว่าด้วยเรื่องภาคส่วนต่างประเทศและข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไต้หวันและไทย 

 

นิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 ไต้หวัน (SCSE 2024) ในปีนี้ มีแขกผู้มีเกียรติจากต่างประเทศมากกว่า 2,192 ราย จาก 46 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยกว่า 300 คน ที่เป็นที่น่าจับตามองที่สุดในงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับไต้หวันในระยะนี้

 

คณะผู้แทนจากประเทศไทยซึ่งนำโดย ชิต ลี (Chit Lee)  ประกอบด้วย ดร.นีน่า เกา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ภารกิจทางการแพทย์ต่างประเทศ โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน, นพ. อัครพล คุรุศาสตรา ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทมหาชนและสมาคมด้านเมืองอัจฉริยะและการแพทย์อัจฉริยะของประเทศไทยทั้งหมด 30 คน ที่ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างไต้หวันและไทย

คณะผู้แทนไทยร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 ไต้หวัน (SCSE 2024)

ชิต ลี (Chit Lee)  ผู้ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่บริษัทไต้หวันต้องเผชิญในการขยายตลาดสู่ประเทศไทย เขากล่าวว่า “บริษัทไทยจำนวนมากสนใจในสินค้าและบริการของไต้หวัน แต่เนื่องจากปัญหาราคาขายและภาษีนำเข้าที่สูงมาก ทำให้เหล่าผู้ประกอบการไต้หวันขาดความสามารถในการแข่งขัน จึงหวังว่ารัฐบาลไต้หวันจะสามารถเจรจาต่อรองกับไทยเพื่อลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไต้หวันและไทยได้”

 

รองประธานสภานิติบัญญัติไต้หวัน เจียงฉี่เฉิน ได้ให้การตอบรับเชิงบวกต่อประเด็นนี้ โดยจะผลักดันให้ฝ่ายบริหารเร่งดำเนินการตามหน้าที่ของสภานิติบัญญัติ พร้อมชี้แจงว่า “เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและเหตุผลอื่น ๆ จึงทำให้การลงนามในข้อตกลงใหม่ ๆ เช่น ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP)ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ จำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและไทยยังคงมีความแน่นแฟ้น จึงทำให้สินค้าบางอย่างยังสามารถนำเข้าสู่ประเทศไทยผ่านกรอบ WTO ได้ แต่ในระยะยาว หากสามารถลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าได้ จะไม่เพียงแต่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไต้หวัน แต่ยังเพิ่มความเชื่อมั่นของบริษัทไทยในการเข้ามาลงทุนที่ไต้หวัน ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย”

 

เจียงฉี่เฉิน (Johnny Chiang) ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และได้รับเลือกเป็นรองประธานสภานิติบัญญัติไต้หวันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี 2567 เจียงฉี่เฉิน มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ และมีการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เขามีประสบการณ์มากมายและเคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักข่าวของสภาบริหาร (GIO), รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิจัย APEC สาธารณรัฐจีน-ไทเป, ผู้อำนวยการสำนักงานระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน (รักษาการ), ประธานพรรคก๊กมินตั๋ง และหัวหน้าการประชุมสภานิติบัญญัติพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นต้น 

 

ชิต ลี (Chit Lee) ผู้รับผิดชอบดูแลคณะผู้แทนจากประเทศไทยในครั้งนี้ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของไต้หวัน สาขาประเทศไทย ต่อมา เขาและภรรยาได้ร่วมกันก่อตั้งสื่อภาษาจีนในไทย Vision Thai โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศไทย คอยส่งมอบข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจและอื่น ๆ ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไต้หวันในการเข้าสู่ตลาดประเทศต่าง ๆ ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่