IP เคาะจ่ายปันผลเป็นหุ้น อัตรา 8 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นใหม่ พ่วงเงินสด 0.0348 บาท/หุ้น

IP เคาะจ่ายปันผลเป็นหุ้น อัตรา 8 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นใหม่ พ่วงเงินสด 0.0348 บาท/หุ้น

บอร์ด บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ไฟเขียวจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ อัตรา 8 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นปันผล พ่วงเงินสดอัตรา 0.0348 บาทต่อหุ้น รวมจ่ายปันผล 0.3473 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่าย 24 พฤษภาคม 2567

ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ณ วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลงวดปี 2566 เป็นหุ้นสามัญของบริษัทในอัตรา 8 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นปันผล จำนวน 232,825,328 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลราว 0.3125 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่า 116 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผลเป็นเงินสดอัตรา 0.0348 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 13 ล้านบาท รวมจ่ายปันผลทั้งหมดอัตรา 0.3473 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมราว 129 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับปันผล (Record Date) วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และจ่ายปันผล ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567

"นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังมีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 233 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 378 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 291 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการจ่ายหุ้นปันผลจำนวนไม่เกิน 233 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการปรับอัตราการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 2 (IP-W2) จำนวน 58 ล้านหุ้น ซึ่งทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันที่ 26 เมษายน 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป"

ดร.ตฤณวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนเพิ่มทุนจดทะเบียนนั้น นอกจากจะรองรับการจ่ายปันผลในรอบนี้แล้ว สาเหตุสำคัญเพราะเราต้องการขยับบริษัทจากตลาด mai ไป SET เพื่อขยายโอกาสรองรับนักลงทุนสถาบันรายใหญ่จากต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ให้ความสนใจบริษัท พร้อมรองรับแผนการลงทุนต่อยอดการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง เดินหน้าสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป ที่ประชุมบอร์ดยังมีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนด้วยการซื้อหุ้น บริษัท เมตตา เมดเทค จำกัด (METTA) ซึ่งประกอบธุรกิจขายเครื่องมือทางการแพทย์โดยเน้นที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาอาการปวด Neuro Rehabs และ Robotic Rehabs และกิจการคลินิกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการฟื้นฟูสุขภาพ ในสัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วของ METTA ซึ่งเบื้องต้นบริษัทฯ ตั้งเป้าจะนำ METTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ MAI พร้อมโรงพยาบาลนครพัฒน์ ในปี 2569 ในขณะที่ Lab Pharmacy ตั้งเป้าจะยื่นคำขอเพื่อเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในต้นปี 2568 นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทฯ ยังได้ร่วมลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมการรักษาโรคพาร์กินสันด้วย Gene Therapy หรือการบำบัดโรคด้วยพันธุกรรมในประเทศญี่ปุ่น วงเงินลงทุนราว 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการักษาของผู้ป่วยในภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมขั้นสูง ต่อยอดโอกาสขับเคลื่อนการเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่อง ภายใต้การมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน

"สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 59 ล้านบาท โดยกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นราว 7% จาก 618 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน เป็น 659 ล้านบาท กวาดรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นราว 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อนแตะ 1,781 ล้านบาท ตามการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจร้านขายยา ภายใต้แบรนด์ Lab Pharmacy ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งหมด 32 สาขา และจะเพิ่มเป็น 41 สาขา ภายในสิ้นปี 2567 และการเติบโตจากธุรกิจโรงพยาบาล ที่กำลังปรับปรุงต่อเติมอาคารให้ทันสมัยและขยายการให้บริการใหม่ๆ สำหรับผลกำไรสุทธิที่ลดลงมาจากการลงทุนในการโฆษณาสร้างแบรนด์อย่างหนักในผลิตภัณฑ์หลักๆ ของบริษัทฯ อาทิ Bella Para, Probac, PreBO, ยาสีฟัน Yuuu, Maria เป็นต้น รวมไปถึงการลงทุนขยายสาขาร้านขายยา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ราว 568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากค่าสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์, ป้ายโฆษณา และช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงค่าคอมมิชชัน, ค่าขนส่งและกระจายสินค้า, เงินเดือนและค่าใช้จ่ายฝ่ายขายที่เพิ่มขึ้นตามการขยายร้านสาขา นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานบริษัทย่อยที่เกิดจากการรวมธุรกิจร้านขายยาและโรงพยาบาล รวมถึงค่าเสื่อมโรงงาน บริษัทอินเตอร์ฟาร์มากำลังวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นบริษัทนวัตกรรม 1. นวัตกรรม ยาตา 2. นวัตกรรม Gene and Cell Therapy 3. นวัตกรรม ด้าน เวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด 4. นวัตกรรม โรคภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็ง ซึ่งคาดว่า จะตอบสนองต่อความต้องการจำที่มากขึ้นอย่างมากในอนาคต" ดร.ตฤณวรรธน์ กล่าว