ไทยเบฟฯปลื้ม เหล้า-เบียร์ขายดี 9 เดือนกวาด 2.1 แสนล้าน

ไทยเบฟฯปลื้ม เหล้า-เบียร์ขายดี 9 เดือนกวาด 2.1 แสนล้าน

ยักษ์ไทยเบฟฯ ผลประกอบการงวด 9 เดือน ยอดขายโต 3.8% รายได้ทะลุ 2.15 แสนล้าน กวาดกำไร 3.7 หมื่นล้าน เผยเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว หนุน “เหล้า-เบียร์” โตต่อเนื่อง โอดต้นทุนการตลาด-วัตถุดิบ การแข่งขัน ตัวแปรทำตัวเลขกำไรลด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการรอบ 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า รายได้จากการขายอยู่ที่ 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้ในทุกกลุ่มธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสุรา ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร ต่างเติบโตในระดับ 0.7-19.2% เนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ลดลง 3.4% เหลือ 37,765 ล้านบาท เป็นผลจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น และการลงทุนด้านต่าง ๆ ของแบรนด์

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งตามประเภทธุรกิจแล้ว รายได้หลักของไทยเบฟฯยังคงมาจากธุรกิจสุรา และธุรกิจเบียร์ โดยธุรกิจสุราสามารถสร้างรายได้ 93,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากปีก่อน แม้ปริมาณการขายจะลดลง 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีขึ้นเป็น 25.4% จากอัตรา 24.7% เมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยฯที่ 23,763 ล้านบาท เติบโต 6.2%

ไทยเบฟฯปลื้ม เหล้า-เบียร์ขายดี 9 เดือนกวาด 2.1 แสนล้าน

โดยอัตรากำไร ที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการปรับราคาจำหน่ายและปรับสัดส่วนสินค้าในพอร์ตโฟลิโอในไทยรองรับกระแสการบริโภคสุราสี ขณะเดียวกันธุรกิจในประเทศอื่นรวมถึงเมียนมาต่างเติบโตทั้งด้านรายได้และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย

นอกจากนี้ การรายงานผลประกอบการของบริษัท ไทยเบฟฯยังระบุถึงธุรกิจเบียร์ที่สามารถทำรายได้ 93,626 ล้านบาท เติบโต 0.7% จากปีก่อน ขณะที่ปริมาณการขายลดลง 5.2% อย่างไรก็ตาม การลงทุน และการจัดกิจกรรมการตลาด การแข่งขันที่สูง ร่วมกับราคาวัตถุดิบบางชนิดและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยฯลดลงถึง 19.8% เหลือ 10,783 ล้านบาท

ด้านธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้นแม้รายได้จะยังไม่สูงเท่า แต่มีการเติบโตสูงกว่าอย่างชัดเจน โดยธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้ 14,822 ล้านบาท เติบโต 15.6% หลังปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 8.7% ตามการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น สามารถชดเชยภาวะต้นทุนวัตถุดิบและการลงทุนด้านต่าง ๆ ได้บางส่วน ช่วยให้กำไรก่อนดอกเบี้ยฯเติบโต 3.3% เป็น 1,773 ล้านบาท

ขณะที่ ธุรกิจอาหาร มีรายได้ 14,296 ล้านบาท เติบโต 19.2% จากการเติบโตของจำนวนลูกค้าที่นั่งทานอาหารในร้านและความพยายามสร้างแบรนด์

อย่างไรก็ตาม การลงทุนกับการเปิดสาขาใหม่ ค่าใช้จ่ายในการบริหารและดำเนินการทำให้ดอกเบี้ยก่อนภาษีฯลดลง 8.4% เหลือ 1,446 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือน (สิ้นสุดมีนาคม 2566) ของไทยเบฟฯ แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น 3.7% เป็น 148,295 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิกลับลดลง 3.2% เหลือ 17,781 ล้านบาท โดยไทยเบฟฯอธิบายว่า รายได้ที่เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2565 มีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยและเวียดนาม มากระตุ้นรายได้จากการขายเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงธุรกิจอาหารให้เติบโตขึ้น

ขณะที่ธุรกิจสุรารายได้จากการขายลดลงเล็กน้อย ส่วนการลดลงของกำไรสุทธินั้นมีสาเหตุมาจากต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายธุรกิจ รวมถึงการใช้เม็ดเงินลงทุนด้านการตลาดในช่วงเทศกาล ส่งผลให้กำไรสุทธิของทั้งธุรกิจเบียร์ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหารลดลง จนกำไรจากบริษัทย่อยและธุรกิจสุราไม่สามารถชดเชยได้

โดยธุรกิจสุรายังคงทำรายได้สูงสุดในกลุ่มด้วยตัวเลข 65,161 ล้านบาท แม้จะลดลง 0.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามด้วยธุรกิจเบียร์การขึ้นราคาสินค้าช่วยให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 4% เป็น 64,434 ล้านบาท แม้ปริมาณการขายจะลดลง 2.2% ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทำรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 15.1% เป็น 9,439 ล้านบาท หลังปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 7.7% จากดีมานด์การดื่มน้ำเปล่า ชาพร้อมดื่ม และน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นหลังผ่านช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 21.8% เป็น 9,365 ล้านบาท สอดคล้องกับกระแสการกลับมาทานอาหารในร้าน