ตลาดเขียว คลินิคเสริมสร้างสุขภาพให้ชุมชน ทุกจังหวัดควรมีมากกว่า 1 แห่ง

ตลาดเขียว คลินิคเสริมสร้างสุขภาพให้ชุมชน  ทุกจังหวัดควรมีมากกว่า 1 แห่ง

ตลาดเขียวหรือตลาดสีเขียว แหล่งรวมผลผลิตอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และผู้บริโภคสามารถสื่อสารกับผู้ผลิตโดยตรง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และเครือข่ายตลาดเขียว ร่วมจัดกิจกรรม“คลินิกบูรณาการตลาดเขียว”ในงานเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน”ณ เมืองทองธานี

สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดเขียวหรือตลาดสีเขียว นอกจากเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ยังเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงพื้นที่สร้างเศรษฐกิจระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค

ปัจจุบันสสส.สนับสนุนตลาดเขียวในประเทศไทยให้เกิดขึ้นแล้วประมาณ19 จังหวัด มีทั้งในพื้นที่เมือง ชุมชน โรงพยาบาล และองค์กรของรัฐ ฯลฯ 

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยอมรับว่า ลำพังสสส.องค์กรเดียวทำไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากที่อื่นๆ

 “เราสร้างตลาดเขียวได้จำนวนหนึ่ง เราอยากเห็นโมเดลรูปแบบนี้กระจายตัวมากขึ้น เพราะตลาดแบบนี้ไม่ใช่แค่ค้าขาย ยังให้ความรู้ด้านสุขภาพและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศ"

ส่วนบาทหลวงวุฒิชัย อ่องนาวา ผู้พลิกพื้นที่ดินชุมชนคาทอลิกให้เป็นเกษตรอินทรีย์ สถานีเกษตรแบ่งปันราชบุรี โดยมีสโลแกน“ทำโดยชาวบ้าน แต่ไม่ได้ทำแบบบ้านๆ” 

รูปแบบตลาดเขียวของพวกเขา มีทั้งขายที่โรงพยาบาลสวนผึ้ง โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา และตลาดวิถีธรรมชาติ รวมถึงสั่งซื้อทางออนไลน์ และใช้ไลน์เป็นเครื่องมือนัดพบ มีรถโมบายเกษตรแบ่งปัน 

ตลาดเขียว คลินิคเสริมสร้างสุขภาพให้ชุมชน  ทุกจังหวัดควรมีมากกว่า 1 แห่ง

 

ส่วนตลาดเขียวกินสบายใจอุบลฯ  คนึงนุช วงศ์เย็น แกนนำจัดตั้งกลุ่ม เล่าว่า ในอุบลฯมีพื้นที่ทำการเกษตร 5.8 ล้านไร่ แต่ทำเกษตรอินทรีย์ เพียง1.6แสนไร่

"ถ้าจะทำให้ผลผลิตในตลาดเขียวเพิ่มขึ้น ต้องส่งเสริมเกษตรผู้ผลิตไม่ใช้สารเคมี รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค เพราะการผลิตเพื่อขาย ไม่เหมือนปลูกกินเอง"

แกนนำจัดตั้งตลาดเขียวกินสบายใจ ยังระบุว่า เธอและสมาชิกจะร่วมกันถอดบทเรียนจะมีการประชุมทุกครั้งหลังปิดตลาด โดยคำถามที่สมาชิกพบบ่อย คือ ผู้บริโภคคิดว่า เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสาร ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชแบบเดียวกัน 

ตลาดเขียว คลินิคเสริมสร้างสุขภาพให้ชุมชน  ทุกจังหวัดควรมีมากกว่า 1 แห่ง

ทั้งๆ ที่ระดับความปลอดภัยคนละระดับ ดังนั้นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์PGS (Participatory Guarantee System )  จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนการขับเคลื่อนตลาดเขียว วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณาการ เพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหารฯ ตั้งเป้าไว้ว่า อยากให้ตลาดเขียวกระจายตัวทั่วประเทศ

“เราไม่ต้องการแค่ 1 จังหวัด 1 แห่ง ถ้าทุกจังหวัดมีได้ทุกตำบล ทุกอำเภอ การทำงานขับเคลื่อนเรื่องตลาดเขียว จะถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะตลาดเขียวจะดีต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และระบบอาหารของท้องถิ่น”