แพทย์โรงพยาบาลหัวเฉียว แนะวิธีดูแลรักษาเท้าสำหรับ "ผู้ป่วยเบาหวาน"

แพทย์โรงพยาบาลหัวเฉียว แนะวิธีดูแลรักษาเท้าสำหรับ "ผู้ป่วยเบาหวาน"

"การดูแลเท้า" เป็นอีกเรื่องที่สำคัญของผู้ป่วยเบาหวาน พญ.ฟ้ารุ่ง ภูษาทอง อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลหัวเฉียวจะมาแนะวิธีดูแลรักษาเท้าอย่างไรไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อ

การดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี สำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะ โรคเบาหวาน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลเรื้อรังได้ง่าย และเพียงรอยแผลขนาดเล็ก อาจเกิดการติดเชื้อลุกลาม จนนำไปสู่การสูญเสียเท้า หรืออาจถึงแก่ชีวิต

พญ.ฟ้ารุ่ง ภูษาทอง อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจดูแลภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานด้วย และการดูแลเท้าก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรดูแลอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพลดลง รวมถึงส่งผลให้กลไกการสมานแผลช้ากว่าปกติ และยังอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น 

  1. ระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม ส่งผลให้การรับความรู้สึกสัมผัสลดลง ทำให้มีอาการชา ความรู้สึกผิดเพี้ยน จนถึงเท้าผิดรูปได้
  2. ระบบหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนปลายไม่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่รุนแรงจนนำมาสู่การตัดเท้าได้

การดูแลรักษาเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  • การดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ เช่น การดูรอยแผล การอักเสบ อาการบวม ผิวแห้งแตกเป็นขุย ตาปลา เป็นต้น
  • การทำความสะอาดเท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าทุกวันด้วยสบู่อ่อน หลังทำความสะอาดเรียบร้อยควรเช็ดเท้าให้แห้งทันที
  • ควรสวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า และรองเท้าควรมีขนาดที่พอดีกับรูปเท้า
  • ไม่ควรแช่เท้าในน้ำอุ่น 

สำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน ที่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเริ่มมีภาวะแทรกซ้อน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลที่เท้าได้ และเมื่อเกิดแผลที่เท้าควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลหัวเฉียว มีศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ พร้อมคลินิกเท้าเบาหวานดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ และมีทีมแพทย์เฉพาะทางและสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์ ได้แก่ ทีมแพทย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรคเบาหวาน และต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบประสาท โรคไต จักษุแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ทีมพยาบาล นักกำหนดอาหาร นักกายภาพบำบัด เพื่อให้บริการดูแลรักษาโรคที่ครอบคลุมจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน