20 ผลงานจากภาครัฐและเอกชน คว้ารางวัล Smart City Solution Awards 2022

20 ผลงานจากภาครัฐและเอกชน คว้ารางวัล Smart City Solution Awards 2022

20 ผลงานจากภาครัฐและเอกชน คว้ารางวัล Smart City Solution Awards 2022 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแนวทางการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเมืองอัจฉริยะประเทศไทย หน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มอบรางวัล Smart City Solution Awards 2022 แก่ผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง และยกระดับการให้บริการประชาชนใน 7 ด้าน มีผู้ชนะเลิศ 7 ผลงาน และรางวัลชมเชย 13 ผลงาน ซึ่งเป็นระบบบริการที่ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

            นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ส่งผลงาน และกล่าวว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ และบูรณาการการดำเนินการจากหลายภาคส่วนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปีนี้จัดให้ได้มีเวทีที่แสดงถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเมืองบริการเมืองอัจฉริยะแก่ประชาชนของหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน พร้อมค้นหาโครงการต้นแบบในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีทั้ง 7 ด้าน ที่จะสามารถส่งต่อทั้งความรู้และเทคโนโลยี อันเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการขับเคลื่อนเมืองสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยขอใช้โอกาสนี้ในการมอบโล่เกียรติคุณแก่เมืองและโครงการดีเด่นเพื่อสร้างแรงบรรดาลใจและส่งต่อแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้ต่อไป”

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เปิดเผยในพิธีมอบรางวัล Smart City Solutions Awards 2022 ในบริการอัจฉริยะจะประกอบด้วย 7 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy ) ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ด้านการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) โดยในปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 57 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลในแต่ละด้านรวม 20 ผลงาน ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข อย่างยั่งยืน โดยเป็นระบบบริการที่ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

“ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ตามแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีได้วางไว้ การจัดพิธีมอบรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างไปยังหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการระบบบริการเมืองอัจฉริยะ รวมไปถึงประชาชน หรือผู้รับบริการ จะได้รับรู้และเข้าใจถึงระบบบริการเมืองอัจฉริยะ และการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการเมือง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนไทยต่อไป” ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ กล่าว


20 ผลงานจากภาครัฐและเอกชน คว้ารางวัล Smart City Solution Awards 2022

ในปีนี้มีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) รางวัลชนะเลิศ หลาดยะลา (Yala Market) เทศบาลนครยะลา ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) รางวัลชนะเลิศ Smart Grid สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) รางวัลชนะเลิศ Chula Zero Waste สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) รางวัลชนะเลิศ ระบบรับและบริหารจัดการ เรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (ศูนย์บริการร่วม One stop service) เทศบาลตำบลบ้านกลาง ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) รางวัลชนะเลิศ โครงการรับรองความพิการแบบเบ็ดเสร็จ R8:NDS : NAWANG Model โรงพยาบาลนาวังเฉลิม พระเกียรติ 80 พรรษา ด้านขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) รางวัลชนะเลิศ เวียบัส (ViaBus) แพลตฟอร์มขนส่งโดยสาร ประจำทาง บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และ ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ คว้ารางวัลชมเชย

20 ผลงานจากภาครัฐและเอกชน คว้ารางวัล Smart City Solution Awards 2022

 

 

ตลอดจนการจัดทำพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง depa และหน่วยงานพันธมิตร ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา พร้อมการสร้างระบบนิเวศน์ที่สามารถทำให้เกิดความร่วมมือในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน อันสามารถเป็นกลไกในการยกระดับศักยภาพให้กับกำลังคนและบุคลากรที่มีองค์ความรู้และกระบวนความคิดเชิงระบบให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน เพื่อตอบรับโอกาสที่มีอยู่ในกระแสโลกสมัยใหม่ รวมไปถึงทักษะจำเป็นในการนําดิจิทัลเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในหน่วยงานของตนให้เป็นประโยชน์ พร้อมการคำนึงถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศ      

            ปัจจุบันมีหลายพื้นที่แสดงความสนใจจะพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีเมืองที่ส่งแผนพัฒนาเมือง ฯ มายังสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย แล้วกว่า 66 แผน และเป็นเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะแล้ว 30 เมือง ใน 23 จังหวัด นอกจากนี้ สำนักงาน ฯ ยังให้ความสำคัญของการสร้างบุคลากร ยกระดับทักษะการพัฒนาเมืองของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำเมืองและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแผนพัฒนาเมือง รวมถึงการบ่มเพาะนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ หรือ Smart City Ambassadors ที่เป็นทูตเทคโนโลยี ลงพื้นร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกว่า 150 คน ในหน่วยงานร่วมพัฒนาเมือง 56 จังหวัด ทั่วประเทศ  เพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาเมืองที่เข้มแข็งต่อไป