เทคโนโลยีและการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ | ธนรัตน์ มังคุด

เทคโนโลยีและการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ | ธนรัตน์ มังคุด

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไป ไม่เว้นแม้กระทั่งลักษณะการกระทำความผิดที่พัฒนาไปพร้อมความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

หากมองกฎหมายอาญาเป็นแขนงหนึ่งของอาชญากรรมศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดในการลดอาชญากรรม เพื่อปกป้องคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัย

การทบทวนพรมแดนความรู้ของการศึกษาว่าด้วยรูปแบบการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศที่มีความหลากหลายมากขึ้นจึงมีความสำคัญ

ในบทความเรื่อง Technology and Sexual Offending (เทคโนโลยีและการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ) ตีพิมพ์ในวารสาร Current Psychiatry Reports เมื่อปีที่แล้ว

Rebecca Fisico และ Leigh Harkins ทบทวนพรมแดนความรู้ของการวิจัยเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงทางเพศโดยมีการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุน (Technology-facilitated Sexual Violence : TFSV) (โดยไม่รวมการกระทำความผิดต่อเด็ก เช่น ความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารเด็ก ซึ่งมีจำนวนงานวิจัยค่อนข้างมากแล้ว)

บทความนี้ทำให้เห็นภาพกว้างๆ ของรูปแบบ TFSV ที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดในแง่พรมแดนความรู้ โดยแบ่ง TFSV เป็นสองรูปแบบ ได้แก่ (1) TFSV ที่กระทำผ่านเทคโนโลยีโดยตรง และ (2) TFSV ที่เป็นการกระทำความรุนแรงทางเพศในทางกายภาพโดยมีการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

กรณี TFSV กลุ่มที่ (1) อาจแบ่งการกระทำสำคัญๆ ได้เป็นการล่วงละเมิดทางเพศโดยมีภาพเป็นฐาน ซึ่งหมายถึงการที่ผู้กระทำถ่าย เผยแพร่ส่งต่อ หรือขู่เข็ญว่าจะเผยแพร่ส่งต่อภาพหรือวีดิโอเปลือย หรือในทางเพศของผู้อื่นโดยผู้นั้นไม่ยินยอม

 

การเฝ้ามองทางวีดิโอ (Video Voyeurism) หมายถึงการที่ผู้กระทำเฝ้ามองหรือ “ถ้ำมอง” บุคคลอื่นที่กำลังเปลื้องผ้า เปลือย หรือทำกิจกรรมทางเพศ โดยผู้นั้นไม่รู้ตัวและไม่ยินยอม และผู้กระทำได้รับการกระตุ้นทางเพศจากการเฝ้ามองดังกล่าว

โดยเป็นการกระทำผ่านวีดิโอหรือภาพแทนที่จะเป็นในสถานที่จริงเหมือนเมื่อก่อน รวมถึงยังเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการเผยแพร่ส่งต่อวีดิโอดังกล่าวด้วย การกระทำเหล่านี้ เช่น การถ่ายใต้เสื้อผ้า/กระโปรงและการถ่ายเหนือเสื้อผ้าลงไป

การส่งภาพในทางเพศโดยผู้รับไม่ได้ร้องขอ หมายถึงการที่ผู้กระทำส่งภาพเปลือยของตนเองไปยังผู้อื่นที่ไม่ยินยอมที่จะรับหรือไม่คาดคิดว่าจะได้รับภาพดังกล่าว

กรณี TFSV กลุ่มที่ (2) ได้แก่ การใช้ความรุนแรงทางเพศในทางกายภาพโดยมีการใช้ช่องทางออนไลน์หรือ “เดตติงแอป (Dating Apps)” มาสนับสนุนและนำไปสู่การกระทำความรุนแรงทางเพศ

ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดในแง่พรมแดนความรู้เกี่ยวข้องกับปริมาณของการศึกษาวิจัยและรายละเอียดของบริบทแวดล้อมที่จะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้

แม้บทความดังกล่าวไม่ได้ทบทวนปรากฏการณ์การกระทำความผิดเหล่านี้ในไทย แต่การลองไปดูกฎหมายไทยที่อาจเข้ามาจัดการกับการกระทำกลุ่มนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

หากมุ่งสนใจเฉพาะความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งมีฐานความผิดสำคัญ 2 กลุ่ม คือ การข่มขืนกระทำชำเรา (การที่ผู้กระทำ เพื่อสนองความใคร่ของตนเอง ใช้อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น โดยผู้อื่นนั้นไม่ยินยอมในลักษณะที่กฎหมายกำหนด)

และการกระทำอนาจาร (หรือการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ ซึ่งรวมถึงการสัมผัสในทางเพศ การกอดจูบลูบคลำ การใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น โดยผู้อื่นนั้นไม่ยินยอมในลักษณะที่กฎหมายกำหนด)

นอกจากนี้ ยังมีความผิดที่เข้ามาจัดการกับการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญในลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศด้วย โดยเป็นความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

ทั้งนี้ ก่อนการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศมักเกิดขึ้นโดยผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอยู่ในบริเวณเดียวกัน การกำหนดความผิดฐานต่างๆ ที่กล่าวมาจึงมุ่งป้องปรามการกระทำในลักษณะดังกล่าวเสียเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี ในบางกรณีศาลได้มีคำพิพากษาว่า การแอบถ่ายเป็นการกระทำอนาจาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติฐานกระทำอนาจารในลักษณะดังกล่าวที่ไม่จำเป็นต้องมีการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้กระทำ

และนำไปสู่คำถามต่อเนื่องว่าด้วยการปรับปรุงหรือบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมให้มีศักยภาพในการจัดการกับการกระทำความรุนแรงทางเพศในรูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณารูปแบบการกระทำความรุนแรงทางเพศด้านบน มีคำถามว่าการค้นคว้าวิจัยซึ่งอาจดำเนินอยู่หรือจะมีขึ้นในอนาคตจะทำให้เกิดผลอย่างไรในวงการกฎหมายอาญา อาชญาวิทยา และสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง?

Fisico และ Harkins ตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่สมควรมีการศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่ อัตราการเกิด TFSV และลักษณะแวดล้อมของการเกิดอาชญากรรม (รวมทั้งความหลากหลายของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ศึกษาซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเฉพาะเจาะจง) เพื่อที่จะได้สามารถจัดการกับผู้กระทำและผู้ถูกกระทำได้อย่างเหมาะสม

การระบุว่าใครบ้างที่เป็นผู้กระทำความผิดและการแสวงหามูลเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบของประเด็นจำนวนหนึ่งได้ อาทิ TFSV เป็นส่วนต่อขยายของการกระทำความรุนแรงทางเพศในทางกายภาพ หรือเป็นพฤติกรรมเฉพาะ หรือเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น เป็นต้น

ประสบการณ์ของผู้ถูกกระทำใน TFSV โดยจะทำให้เข้าใจมุมมองด้านผู้ถูกกระทำ เป็นต้นว่ามีการกระทำอื่นโดยผู้กระทำความรุนแรงหลังจากเหตุการณ์ TFSV หรือไม่ ผลกระทบที่เกิดจาก TFSV ต่างจากผลกระทบที่เกิดจากการกระทำความรุนแรงทางเพศในทางกายภาพหรือไม่

ตลอดจนการรับรู้ของสังคมในเรื่อง TFSV โดยอาจทำให้เข้าใจประเด็นสำคัญในมิติที่ต่างไป ตัวอย่างเช่นการกระทำ TFSV ถูกมองว่ารุนแรงน้อยกว่าการกระทำรุนแรงทางเพศในทางกายภาพหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น TFSV ถูกทำให้เป็น “เรื่องปกติ (normalisation)” ในสังคมมากน้อยเพียงใด.