ชป. สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน 22-25 ส.ค. นี้

ชป. สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน 22-25 ส.ค. นี้

กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2565 อย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 31/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน โดย กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 19 - 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่าในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร (มม.) ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 - 22 ส.ค. 65 จะมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ 90 มม. และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน ในช่วงวันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2565
 

ลุ่มน้ำป่าสัก เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง
- แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.หล่มเก่า อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ คาดการณ์ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสักประมาณ 0.60 ม.

ลุ่มน้ำชี เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง 
- แม่น้ำชี บริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี 
- ลำน้ำยัง บริเวณ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด 
- ลำปะทาว บริเวณ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ

ลุ่มน้ำมูล เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง 
- แม่น้ำมูล บริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.พิบูลมังสาหาร อ.วารินชำราบ อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี 
- ลำเซบก บริเวณ อ.ม่วงสามสิบ อ.ดอนมดแดง อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี 
- ลำโดมใหญ่ บริเวณ อ.น้ำยืน อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก อ.เดชอุดม อ.นาเยีย อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
 

กรมชลประทาน เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. ในช่วงเวลา 24 ชม. และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

พร้อมกับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำได้ที่ www.rid.go.th https://www.facebook.com/Kromchon http://swoc.rid.go.th/ หรือจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1460 ได้ตลอดเวลา