เงิน ชีวิต และความสุข | วรากรณ์ สามโกเศศ

เงิน ชีวิต และความสุข | วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อเห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนและปัญหาสังคม ที่เกิดจากการเป็นหนี้ ดังที่ปรากฏอยู่ในข่าวแล้ว    คาดเดาได้ว่าสังคมไทยมีปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เงินกับชีวิตและความสุข     วันนี้จึงขอขยายเรื่องความสัมพันธ์ของสามเรื่องนี้เพื่ออาจช่วยสถานการณ์ได้บ้าง

ในปี 2564-2565 ยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งประเทศมีขนาดเท่ากับประมาณร้อยละ 89 ของ GDP (รายได้ของคนทั้งประเทศรวมกันในเวลาหนึ่งปี)  ซึ่งถือว่ามาก การมีหนี้นั้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หากเป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แล้วจึงใช้คืนในภายหลัง  

ธนาคารโลกระบุว่าหากหนี้ครัวเรือนเกินกว่าร้อยละ 70 แล้วอาจเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจได้  กล่าวคือถ้าเพียงแค่ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยด้วยความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงิน   ประชาชนก็จะเดือดร้อน

และเรื่องเดือดร้อนนี้หมายถึงรายได้ที่จะใช้จ่ายได้ลดลง  อำนาจซื้อของประเทศหายไป    มีผลกระทบต่อการผลิต       ต่อการประกอบธุรกิจ   และกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่

 ในเรื่องความสัมพันธ์ของสามเรื่องดังกล่าวมีอยู่ 4 ประเด็นที่ควรเตือนใจ   

 ข้อ 1    เงินมิใช่ความสุขหรือจุดจบของทุกสิ่ง     คนทั่วไปมักคิดว่าถ้าถูกหวยรางวัลที่หนึ่งสัก 5 ใบแล้วชีวิตก็จบแล้ว    ร่ำรวยอยู่กินอย่างสบายไปตลอดชีวิต     อย่าลืมว่าเงินไม่ใช่ตัวความสุข     หากเงินเป็น “สะพาน” ไปสู่ความสุข        ถ้ารู้จักหาเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เงินอย่างมีความรู้    มีศิลปะ  และมีสติแล้ว    เงินก็เป็น “สะพาน” ไปสู่ความสุขอย่างมั่นคงและยั่งยืน  มีความสุขกายสุขใจ และมีชีวิตที่มีความสุขได้

ข้อ 2    เงินมิได้งอกอยู่บนต้นไม้ หรือหล่นจากฟ้าหรือขุดได้อย่างไม่รู้จบ    หากได้มาด้วยความยากลำบาก (คนในชนบทนั้นรู้ดีว่าเงินสดแต่ละบาทนั้นหามาได้อย่างยากเย็นเพียงใด)   ต้องผ่านการทำงานของแต่ละอาชีพอย่างหนัก   ยิ่งมีเหตุการณ์ผันผวนที่กระทบต่อการทำมาหากินเพียงใด   ปากท้องก็จะถูกกระทบเพียงนั้น 

                สุภาษิตจีนบอกว่า “กระรอกต้องมีหลายโพรง”  ดังนั้น มุนษย์ต้องพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการประกอบหลายอาชีพเพื่อเป็นความคล่องตัวของการหารายได้  วิธีการมองโลกที่อยู่บนความจริงมิได้อยู่บนความเพ้อฝันว่าจะร่ำรวยจากการพนัน  จากหวย (การพนันตัวสำคัญ) จากโชค จากการที่คนอื่นให้    จะทำให้ร่ำรวยได้อย่างแท้จริง

เงิน ชีวิต และความสุข | วรากรณ์ สามโกเศศ

 ข้อ 3    ถึงแม้จะมีรายได้สม่ำเสมอ    มีอาชีพที่ดีมั่นคง  แต่ถ้าใช้จ่ายไม่เป็นแล้ว   “สะพานเงิน”  ก็ไม่ช่วยให้มีชีวิตที่ดีและมีความสุขได้อย่างแน่นอน    ถ้าแม้นมีเงินยิ่งมากก็ยิ่งมีความสุขมากแล้ว    เศรษฐีทุกคนก็จะมีความสุขกันทั่วหน้าบนโลกใบนี้

   แต่ในความเป็นจริงเราเห็นเศรษฐีจำนวนมากมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินไม่เป็นจนเป็นเศรษฐีแบบสายฟ้าแลบ  มีปัญหาเกี่ยวกับการสูญเสียอันเนื่องจากสุขภาพของตนเองหรือของคนที่รัก  มีปัญหาจากการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ จนหาความสุขไม่ได้

        รูปแบบการใช้จ่ายเงินที่จะกล่าวต่อไปนี้ คนทั่วไปในโลกได้ยอมรับว่า เป็นหนทางที่นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต   ลองจินตนาการถังน้ำใบหนึ่งที่มีรูให้น้ำไหลออก  และมีก๊อกให้น้ำไหลเข้า    

รายได้คือน้ำที่ไหลเข้า   รายจ่ายคือน้ำที่ไหลออก   ถ้ามีรายได้มาก  และใช้จ่ายน้อย หรือมีรายได้ไม่มากแต่ใช้จ่ายยิ่งน้อยก็จะทำให้มีน้ำเหลือในถังในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปี    น้ำที่เหลืออยู่ในถังนี้ก็คือเงินออม
        ถ้านำเงินออมนี้ไปทำให้เกิดดอกผลขึ้นด้วยการลงทุนในตนเองหรือคนในครอบครัวหรือทำให้เกิดเป็นดอกเบี้ย   ค่าเช่า    เงินปันผล  กำไรจากมูลค่า/ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ฯลฯ ก็จะกลายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งที่ได้มาโดยไม่ต้องออกแรงในช่วงเวลาต่อไป    

เปรียบเสมือนเป็นก๊อกน้ำที่สองที่มีน้ำไหลเข้าถัง  และน้ำก๊อกสองนี้จะไหลแรงยิ่งขึ้น ถ้าในช่วงเวลาต่อไปก็มีน้ำเหลือในถังอีกและนำไปลงทุนแปรเป็นทรัพย์สินที่เกิดรายได้อีกอย่างต่อเนื่องไป  ทั้งหมดก็จะเกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน  ถึงแม้จะไม่มีแรงทำงานก็มีรายได้

เงิน ชีวิต และความสุข | วรากรณ์ สามโกเศศ

        ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะมีน้ำเหลือในถัง     ข้อแนะนำก็คือท่องคาถา “จงอยู่กินต่ำกว่าฐานะ”   ถึงมีรายได้พอจะอยู่กินตามเงินที่มีได้แต่ก็อยู่กินต่ำกว่าจนมีเงินเหลือเก็บและนำไปแปรเป็นทรัพย์สินสร้างรายได้อีกทางดังกล่าว     สภาวการณ์อย่างนี้เขาเรียกว่า “จนเพื่อรวย”  

กล่าวคือยอมจนในวันนี้เพื่อรวยในวันหน้า    กล่าวคือยอมลำบากในวันนี้เพื่อมีเงินให้ใช้ในวันหน้าและในวันที่ไม่มีแรงทำงาน   ถ้าไม่มีเงินออมเลยและแถมกู้ยืมมาใช้อยู่ร่ำไปอีก  อย่างนี้เขาเรียกว่า “รวยเพื่อจน”

        ข้อ 4   ถึงแม้ว่าจะมีวินัยการใช้เงิน    มีการอดกลั้นอดออมอย่างดีจนเกิดรูปแบบการใช้จ่ายเงินในประเด็นที่สามแล้วก็ตามก็ใช่ว่าจะเกิดความสุขในชีวิตได้    เพราะชีวิตนั้นมี “ระเบิดเวลา”  อยู่หลายลูกจนสามารถทำลายรูปแบบข้างต้นในเวลาใดก็ได้  หรือทำให้ไม่เกิดรูปแบบที่พึงปรารถนาขึ้นเลย

        “ระเบิดเวลา” เหล่านี้ก็คือการหลงใหลในความเย้ายวนและลุ่มหลงในชีวิตอันได้แก่   การพนัน    ยาเสพติด    เหล้า    เรื่องเพศ     คบ “คนพาล”   มีสิ่งแวดล้อมในชีวิตที่เป็นพิษ    “การไร้หางเสือ”  ของการดำเนินชีวิต   ฯลฯ

        “ระเบิดเวลา”  เหล่านี้สามารถทำลายชีวิตคนรวยขนาดไหนได้ตลอดเวลา     การพนันสามารถละลายเงินเป็นพันเป็นหมื่นล้านได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง      การมีอาชีพที่ล่อแหลมและคบค้าคนไม่ดีคือสิ่งแวดล้อมของชีวิตที่เป็นอันตรายที่สุดเพราะสามารถชักนำไปสู่สารพัดปัญหาได้เสมอ    การคบ “คนพาล” ทำให้จิตใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเลวร้าย และชักนำให้ชีวิตตกต่ำได้ง่ายที่สุด

        การมีเงินและมีชีวิตที่มีความสุขนั้นมิใช่เป็นเรื่องง่าย   เพียงแต่การใช้เงินเพื่อช่วยให้เงินที่ตนเองได้รับนั้นงอกเงยก็ยากแล้ว     ยิ่งรักษาให้อยู่ตลอดไปนั้นยากยิ่งขึ้น  การใช้เงินในรูปแบบที่เหมาะสมและเอาชนะ “ระเบิดเวลา” ได้นั้นมาจากการมีสติอยู่กับตัวเสมอ   และมี “หางเสือ” ในการดำเนินชีวิต.