จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

เสียงโห่ไล่ “ประยุทธ์” ดังมาสิบทิศ ยิ่งใกล้ 24 ส.ค.2565 วันครบกำหนด 8 ปี ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยิ่งมีภาคประชาชน กลุ่มองค์กรต่างๆ ออกมาสร้างกระแส “8 ปี พอแล้ว” ดังกระหึ่ม

ปมร้อนสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 กลายเป็นวาระร้อน และอาจสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคมไทยอีกหนหนึ่ง

วันที่ 21 ส.ค.2565 กลุ่มราษฎร และประชาชน 4 ภาค นำโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้อ่านแถลงการณ์ราษฎร และขบวนประชาชน 4 ภาค “ให้มันจบที่ 8 ปี” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เครือข่ายขบวนประชาชน 4 ภาค ประกอบไปด้วย 38 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มราษฎร, กลุ่มทะลุฟ้า, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ฯลฯ ขอยืนยันข้อเรียกร้องเฉพาะกาลก่อนการเลือกตั้งดังต่อไปนี้

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

1.พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที

2.หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลงจากอำนาจ ศาลธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ส.ค.2565

3.ให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

นี่คือเสียงเรียกร้องจากเยาวชนคนรุ่นใหญ่ และพวกเขาเตรียมประกาศการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง หลังเส้นตาย 24 ส.ค.นี้ 

แม้วันนี้จะไม่มีม็อบสามนิ้วครึกโครมเหมือนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่คนรุ่นเจน Y เจน Z ได้แสดงพลังผ่านงาน DEMO EXPO งานแสดงดนตรีและศิลปะครั้งยิ่งใหญ่ ที่ลานคนเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เมื่อ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก
 

ภายในงาน DEMO EXPO มีเยาวชนเข้าร่วมงานมากกว่า 5 พันคน และมีแกนนำนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตย มาปรากฏตัวในงานอย่างพร้อมเพรียง

การแสดงออกผ่านเทศกาลดนตรีคนรุ่นใหม่ ก็คือการส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ได้หายไปไหน 

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

เยาวชนในนามคณะราษฎรใหม่ ยังคงสรุปบทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยุคดิจิตอล และเลือกยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่แค่ม็อบบนท้องถนน

อีกด้านหนึ่ง คณะหลอมรวมประชาชน นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มประชาชนคนไทย ได้จัดเวทีปราศรัย “8 ปี ประยุทธ์ ต้องไป คนไทยลูกขึ้นสู้” ช่วงวันที่ 21-24 ส.ค.2565 ที่ลานคนเมือง

จตุพรและทนายนกเขา ยังมีแผนจะนำมวลชนลงถนนราชดำเนิน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ก่อนเที่ยงคืน 23 ส.ค.นี้

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

จับน้ำเสียง ตู่ จตุพร และทนายนกเขา ดูกร้าวแกร่ง มุ่งมั่นจะกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งเก้าอี้นายกฯ จริงๆ แต่ปัญหาของพวกเขาอยู่ที่การระดมประชาชนและแนวร่วม ที่ยังไม่เห็น “จำนวน” ที่มากพอจะต่อรองได้

‘เครือข่าย 99 พลเมือง’ 

เมื่อ 31 ก.ค.2565 เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และคณะผู้ร่วมลงชื่อ 99 คน ได้ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากครบกำหนด 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 60 และขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ 

การเกิดขึ้นของเครือข่าย 99 พลเมืองนั้น เหมือนการย้อนอดีตการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ 99 คน หรือกรณีฎีกา 99 คัดค้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงหลังเลือกตั้งปี 2531 

จากกรณีดังกล่าว ก็ตามมาด้วย พล.อ.เปรม ปฏิเสธเทียบเชิญของผู้แทนของ 5 พรรคการเมืองให้เป็นนายกฯ สมัยที่ 4 พร้อมกับวลีที่ว่า “ผมพอแล้ว 8 ปี 5 เดือน ขอให้พวกคุณทำกันต่อไป..”

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

การจุดพลุไล่ประยุทธ์ของ ครป. และเครือข่าย 99 พลเมืองนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการประสานกับคณะหลอมรวมประชาชน ในระดับหนึ่ง

‘ฟื้นบทบาท ครป.’

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในช่วงปี 2535 มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร รสช. แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ครป.มีการขับเคลื่อนที่เหินห่างแนวทางเดิม 

2-3 ปีมานี้ เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. พยายามฟื้นฟู ครป.ให้กลับมาเป็นธงนำฝ่ายประชาธิปไตย 

ล่าสุด ครป.มีมติเลือก บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เป็นประธานคนใหม่ และจัดเวทีสาธารณะวิเคราะห์การเมืองไทยหลังเงื่อนไข 8 ปีนายกฯ และชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ ที่อนุสรณ์ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

เบื้องต้น ครป. คงเป็นพันธมิตรกับคณะหลอมรวมประชาชน นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ เพราะดูรายชื่อ 99 พลเมืองที่ลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก มีมากกว่า 20 คน ที่มาขึ้นเวทีไล่ประยุทธ์ของจตุพร และทนายนกเขา

‘เลือกตั้งคือความหวัง’

ต้องยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ขบวนการภาคประชาชน ในนามกลุ่มราษฎร ,แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า มีบทบาทการนำมวลชนลงสู่ท้องถนน ด้วยความเชื่อที่ว่า การลุกขึ้นสู้ของมวลชน และมีการชุมนุมจำนวนมหาศาล อาจจะกดดันรัฐบาลได้

ผ่านการชุมนุมใหญ่มาหลายหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง การชุมนุมมวลชนอ่อนแรงลง หลังรัฐใช้กำลังปราบปราม และจับกุมแกนนำ

ปีที่แล้ว มีกลุ่มทะลุแก๊ซเกิดขึ้น พร้อมกับความเชื่อที่ว่า การก่อเหตุจลาจลจะทำให้รัฐฟังประชาชน แต่การสู้บนท้องถนนแบบทะลุแก๊ซก็จบลงด้วยการถูกจับกุมคุมขัง 

จบที่ 8 ปี “ประยุทธ์” เผชิญ “ม็อบสิบทิศ” ไปต่อยาก

ชัยชนะของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในศึกผู้ว่าฯ กทม. จึงกลายเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ เหมือน กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้สรุปบทเรียนและการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนไว้ว่า
“คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง สร้างความแตกต่างได้ ไปเลือกตั้งง่ายกว่า หรือไปดนตรีในสวนเพื่อแสดงพลังแบบนี้ง่ายกว่า และเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกมาก”

อาจารย์กนกรัตน์ ยังสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า “..ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ในแง่นี้ การมีความหวังกับการเลือกตั้ง จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้คนไม่ออกไปชุมนุม”    

สอดรับกับคำประกาศของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อ 10 ส.ค.2565 ที่ลานพญานาค ธรรมศาสตร์ รังสิต

“..การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร  พวกเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ดอกผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ คือชัยชนะที่เกิดขึ้นจริง  และมันจะบานสะพรั่งขึ้นอีกครั้ง ภายใต้การเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง”

เยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงประเมินว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ จะปฏิบัติการทางการเมืองอันสำคัญ เป็นประตูบานแรกสู่การอภิวัฒน์ทางสังคมการเมืองอย่างแท้จริง