"ราคายาง" ดิ่งเหวเหลือ กก. 40 บาท สวนทางค่าครองชีพ ยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยาก

"ราคายาง" ดิ่งเหวเหลือ กก. 40 บาท สวนทางค่าครองชีพ ยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยาก

ชาวสวนช็อกราคายางดิ่งเหว น้ำยางสดเหลือ กก.ละ 40-43 บาท ยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยาก ราคาหมูกิโลกว่า 200 ราคาไก่กิโลเกือบ 100 ไม่พอส่งลูกเรียนหนังสือ รัฐบาลไม่มีใครเหลียวแลแก้ปัญหา ประชดรัฐ...ขอราคา 4 กิโล 100 บาทไปเลย จะได้คิดง่ายๆ

เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตรัง เร่งกรีดยางพารา หลังฝนทิ้งช่วงหยุดตก เพื่อเร่งเก็นน้ำยางส่งขายมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ และหวังจะเก็บเงินไว้ส่งลูกเรียนหนังสือ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฝนตกติดต่อกันบ่อยครั้ง ทำให้เดือดร้อนไม่สามารถกรีดยางพาราได้ แต่ขณะนี้ยิ่งทุกข์หนักกับราคายางที่ดิ่งเหว ทำเอาช็อกในความรู้สึก จากเดิมเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคายางปรับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 65 บาท ทำชาวสวนดีใจอย่างมาก แต่สุดท้ายปรับราคาลงมาต่อเนื่องมาหยุดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 48-50 บาท เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่นับจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ราคายางปรับราคาดิ่งลงวันละประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม 

ทำในวันนี้ราคาน้ำยางสดเหลือกิโลกรัมละ 40-43 บาท ส่วนเศษยางกิโลกรัมละ 20 บาท ทำชาวสวนช็อกในความรู้สึก เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนเป็นอย่างมาก จากปัญหาค่าครองชีพ สินค้าที่จำเป็นในครัวเรือน อาหารทุกชนิด ที่แพงลิบอยู่แล้ว แต่ละครอบครัวมีรายได้ไม่พอรายจ่าย โดยชาวสวนบางราย บอกว่า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าใช้จ่ายทุกอย่างแพงหมด แต่ราคายางกลับมาลดต่ำลง เรื่อยๆ จนหมดกำลังใจ หากเหลือประมาณกิโลกรัมละ 50 บาท ก็พออยู่ได้ แ ต่ขณะนี้เป็นห่วงที่สุดไม่มีเงินส่งค่าหอ ค่าอยู่ ค่ากินลูก ที่ไปเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ กังวลที่สุด
 

เช่นเดียวกับชาวสวนยางรายอื่นๆที่เก็บน้ำยางสดไปส่งขายที่จุดรับซื้อน้ำยางสด ต่างก็บอกว่า แนวโน้มยังคงลดต่ำลงอีก ชาวบ้านเดือดร้อนจนไม่ทราบจะเดือดร้อนอย่างไรแล้ว รัฐบาลก็ไม่เหลียวแล ใกล้หมดวาระรัฐบาลชุดนี้แล้ว จะมีการเลือกตั้งใหม่อีก พรรคการเมืองเคยหาเสียงไว้รับประกันราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ตลอดสมัยรัฐบาลนี้ ราคายางเคยขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 60 บาท 2 ครั้งคือ ประมาณ พ.ค. 2563 และพ.ค. 2565 แต่ขึ้นไปแตะได้ครั้งละ 2 วัน ก็ดิ่งลงกลับ ส่วนเวลาที่เหลือตกต่ำตลอด ชาวสวนบางรายรับจ้างกรีดยางต้องแบ่งครึ่ง หรือได้เพียง 40% ก็ยิ่งเดือดร้อน รัฐบาลรู้ปัญหาดีทั้งหมด ไม่มีใครจริงใจในการแก้ปัญหาชาวสวนยาง ซึ่งสภาพปัญหาของชาวสวนยางภาคใต้ ฝนตกจากมรสุมทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก รวมวันหยุดกรีด จากข้อมูลพบว่า แต่ละปี 365 วัน ชาวสวนกรีดยางได้เพียงประมาณ 130 วันเท่านั้น แล้วราคาก็ตกต่ำอีก น้ำยาง 1 กิโลกรัม ซื้อข้าวสารไม่ได้ 1 กิโลกรัม ขณะที่ราคาหมูกิโลกรัมละ 220 -250 บาท ราคาไก่กิโลกรัมละ 75 บาท รัฐบาลไม่มีใครเหลียวแลแก้ปัญหา