น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกเจ้าพระยา เตรียมรับมือ 12-17 มิ.ย. นี้

น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกเจ้าพระยา เตรียมรับมือ 12-17 มิ.ย. นี้

สทนช. เตือน 12 - 17 มิ.ย.นี้ แม่น้ำเจ้าพระยา เสี่ยงน้ำทะเลหนุนสูง พร้อมรับมือน้ำเอ่อล้นและน้ำเค็มรุกล้ำ กระทบ 5 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำ ตั้งแต่วันที่ 12 - 17 มิถุนายน 2568 โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำอาจสูงถึง 1.70 – 2.00 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่าระดับวิกฤติถึง 0.30 เมตร

ช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือระหว่างเวลา 19.00 - 00.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลจะหนุนสูงสุด สาเหตุมาจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และร่องมรสุมกำลังปานกลางที่พาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น
 

พื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ

  • พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง
  • ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว
  • บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)

นอกจากน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรในหลายจังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม

น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกเจ้าพระยา เตรียมรับมือ 12-17 มิ.ย. นี้

แนวทางการเตรียมรับมือจาก สทนช.

สทนช. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ดังนี้

  • ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด : ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารป้องกันริมแม่น้ำ และเสริมคันกั้นน้ำในจุดเสี่ยง
  • แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า : ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำ
  • เตรียมพร้อมเครื่องมือและบุคลากร : จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
  • ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ : ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอย่างต่อเนื่อง และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำ เขื่อน และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดตามข่าวสารและประกาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้