ครม. เคาะ ปรับสวัสดิการพิเศษ เพิ่มค่าเสี่ยงภัย จนท. รถไฟชายแดนใต้

ครม. ไฟเขียว เพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัย เจ้าหน้าที่รถไฟ พื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งผู้ปฏิบัติงานประจำ ผู้ที่ต้องเข้าพื้นที่ หวังสร้างขวัญกำลังใจ สู้ภัยความไม่สงบ ค่าครองชีพสูง
วันนี้ (10 มิ.ย. 68) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มเงินสวัสดิการพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจ่ายเงินสวัสดิการเพิ่มเติมแก่ผู้ที่สำนักงานตั้งอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัยแต่จำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท. ได้จ่ายเงินสวัสดิการพิเศษให้กับผู้ปฏิบัติงานประจำในพื้นที่พิเศษ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ในอัตรา 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ที่มีสำนักงานนอกพื้นที่ แต่ต้องเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นครั้งคราว
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รฟท. จึงพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าเสี่ยงภัยใหม่และจ่ายเงินสวัสดิการเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ผู้ปฏิบัติงานประจำในพื้นที่พิเศษ (219 คน) : ปรับเพิ่มจากเดิม 2,500 บาท เป็น 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน กรณีปฏิบัติงานไม่เต็มเดือน แต่มีระยะเวลาตั้งแต่ 15 วันขึ้นไป จะได้รับเงินสวัสดิการในอัตรา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน
ผู้ปฏิบัติงานนอกพื้นที่พิเศษ
- ปฏิบัติงานประจำขบวนรถไฟ (115 คน): ได้รับเพิ่ม 233.33 บาท (เดิมไม่เคยได้รับ)
- ปฏิบัติงานเข้า-ออกเป็นครั้งคราว (165 คน): ได้รับเพิ่ม 233.33 บาทต่อคนต่อวัน (เดิมไม่เคยได้รับ)
การปรับเพิ่มเงินสวัสดิการพิเศษครั้งนี้ จะทำให้ รฟท. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1,357,768.98 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 16.29 ล้านบาทต่อปี โดยจะใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ รฟท. และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ
นายอนุกูล เสริมว่า คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องนี้แล้ว นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เห็นชอบหรือไม่มีข้อขัดข้องเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า รฟท. ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายบุคลากรในภาพรวม โดยคำนึงถึงสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ รวมถึงจัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพหรือเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน หรือส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณและฐานะทางการเงินในอนาคต ขณะที่ สศช. เห็นว่า รฟท. ควรควบคุมการจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมทั้งกำหนดให้มีระบบควบคุมตรวจสอบเพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ