4 เขื่อนเจ้าพระยา จุน้ำเกินครึ่ง กรมชลฯ มั่นใจรับมือฝนได้

4 เขื่อนเจ้าพระยา จุน้ำเกินครึ่ง กรมชลฯ มั่นใจรับมือฝนได้

ฝนหนุน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา ปริมาณน้ำเกินครึ่ง กรมชลประทาน ยันพร้อมบริหารจัดการรับมือฤดูฝน ลดผลกระทบปลายน้ำ

กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยปัจจุบันภาพรวมปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีและสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก กรมชลประทานยืนยันเดินหน้าบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการในระยะต่อไป ควบคู่กับการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ปลายน้ำอย่างรอบด้าน

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2568 ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 43,246 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน และยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,245 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43%

4 เขื่อนเจ้าพระยา จุน้ำเกินครึ่ง กรมชลฯ มั่นใจรับมือฝนได้
 

สำหรับ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 13,158 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% ของความจุอ่างรวมกัน และยังคงสามารถรับน้ำได้อีก 11,713 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ซึ่งถือว่าสถานการณ์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

นับตั้งแต่ต้นฤดูฝน (1 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2568) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณรวมกว่า 3,800 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่สภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักตอนบนของประเทศไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4 เขื่อนเจ้าพระยา จุน้ำเกินครึ่ง กรมชลฯ มั่นใจรับมือฝนได้

ในส่วนของ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงบริเวณอำเภอบรรพตพิสัย ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 4 เมตร และแม่น้ำน่านบริเวณอำเภอชุมแสง ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 6 เมตร ก่อนที่ทั้งสองสายจะไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากน้ำโพ ส่งผลให้ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 710 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7 เมตร

กรมชลประทานเน้นย้ำว่า การเก็บกักน้ำทั้งหมดเป็นไปตาม แผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2568 โดยมีการพิจารณาจากปริมาณฝน พื้นที่รับน้ำ และความจุของอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหลากและลดความเสี่ยงจากอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งหน้าให้เพียงพอ

ทั้งนี้ กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ และจะแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล