กองทัพบก ย้ำ ไม่มีการเรียกกำลังพลสำรอง หากเกิดสงคราม ใครต้องไปบ้าง

รัฐบาล และกองทัพบก ย้ำ ยังไม่มีการเรียก กำลังพลสำรอง หรือ ทหารกองหนุน ไม่มีนโยบายติดต่อ ปชช. ผ่านโทรศัพท์-ไลน์ แนะขั้นตอนเรียกพลที่แท้จริง หากเกิดสงคราม ใครต้องไปบ้าง
รัฐบาล กองทัพบก ย้ำ ยังไม่มีการเรียก "กำลังพลสำรอง" หรือ “ทหารกองหนุน” ไม่มีนโยบายติดต่อ ปชช.ผ่านโทรศัพท์หรือไลน์ แนะขั้นตอนเรียกพลที่แท้จริง หากเกิดสงคราม ใครต้องไปบ้าง
วันนี้ (9 มิถุนายน 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลขอเน้นย้ำถึงกรณี ข้อพิพาทชายแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีการตรึงกำลังทหารตลอดแนวชายแดน ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันจากทางราชการ โดยหน่วยงานทหาร ไม่มีนโยบายติดต่อประชาชนผ่านการโทรศัพท์ หรือขอให้เพิ่มบัญชีแอปพลิเคชันไลน์เพื่อดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ กองทัพบก ไม่มีการเรียก "กำลังพลสำรอง" ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อความหรือบุคคลที่แอบอ้าง เพื่อหลอกลวงและเรียกรับผลประโยชน์
มิจฉาชีพ แอบอ้าง เรียก "กำลังพลสำรอง"
ตำรวจสอบสวนกลาง ได้เตือนประชาชนเช่นกันโดยระบุว่า ขณะนี้พบมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นหน่วยงานทหาร โทรศัพท์ไปยังประชาชนโดยอ้างว่าผู้รับสายมีรายชื่ออยู่ในกำลังพลสำรอง ขอให้ติดต่อหน่วยงานต้นสังกัด และหากไม่ประสงค์เข้าร่วมสามารถลงทะเบียนยกเว้นได้ โดยให้เพิ่มบัญชีไลน์เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่
โดยมิจฉาชีพเมื่อโทรมาจะบอกชื่อ เลขบัตรประชาชนและข้อมูลส่วนตัว ทำให้เหยื่อหลงเชื่อคิดว่าเป็นหน่วยงานทหาร เมื่อเข้าไปพูดคุยในไลน์มิจฉาชีพก็จะให้กรอกข้อมูลต่าง ๆ หลอกล่อ กดดันให้เหยื่อกลัว จนนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สิน และข้อมูลสำคัญ
“การเรียกกำลังพลสำรอง” หรือ “ทหารกองหนุน” หากเกิดสงคราม ใครต้องไปบ้าง
'กำลังพลสำรอง' หรือที่เรียกกันว่า 'ทหารกองหนุน' หมายถึงผู้ที่เคยผ่านการเป็นทหารแล้วแต่ปลดประจำการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร (ร.ด.) ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3, ชั้นปีที่ 5 และขึ้นทะเบียนกองประจำการจนปลดเป็นทหารกองหนุน
- ผู้ที่ปลดจากกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
หากเกิดสงครามหรือความไม่สงบเกิดขึ้น กระทรวงกลาโหม มีอำนาจในการออกคำสั่งระดมพล เพื่อเสริมกำลังพลประจำการ
สำหรับ ทหารกองหนุน ที่ปลดจาก ทหารเกณฑ์ (ทหารกองหนุนประเภทที่ 1) จะมีการจัดลำดับตามอายุ ดังนี้
ชั้นที่ 1 อายุต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์
ชั้นที่ 2 อายุ 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 40 ปี
ชั้นที่ 3 อายุ 40 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 46 ปี
พ้นกำหนดการรับราชการทหาร อายุเกิน 46 ปีบริบูรณ์
สำหรับการดำเนินการเรียกกำลังพลสำรอง มีขั้นตอน ดังนี้
1.มณฑลทหารบก แจ้งไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด ของพื้นที่ที่กำลังพลสำรองมีภูมิลำเนาอยู่
2.ออกหมายเรียกพล (ตพ.15) ส่งถึงผู้ถูกเรียก เพื่อปฏิบัติตามหมาย
3.ผู้ถูกเรียกต้องไปรายงานตัวตามสถานที่และเวลาที่กำหนด
“ขอให้ประชาชนรับฟังและติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น และงดเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ป้องกันความสับสนที่อาจสร้างความขัดแย้งภายในประเทศ
ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา จากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ” นายอนุกูล กล่าวย้ำ