การเสริมพลังชุมชนกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง: รากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

การเสริมพลังชุมชนกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง: รากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

แนวคิดเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง

อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดความคิดใหม่ๆ และนวัตกรรม ในขณะที่มองว่า “ชุมชน” เป็นพลังของขนบธรรมเนียมประเพณี มุ่งเน้นควบคุมให้สมาชิกปฏิบัติตาม ยับยั้งการคิดนอกกรอบและเหนี่ยวรั้งความคิดสร้างสรรค์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาอันซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง กว้างขวาง และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายมหาศาล อาทิ ภัยพิบัติ โรคระบาด ยาเสพติด วิกฤติเศรษฐกิจ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถป้องกัน แก้ไข หรือลดผลกระทบลงได้โดยภาครัฐเพียงลำพัง 

ภายใต้บริบทของสังคมที่หมิ่นเหม่ต่อภยันตรายที่ประดังเข้ามาในหลายๆ รูปแบบ การดำรงชีพที่มุ่งเน้นความเป็นตัวของตัวเองและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้แต่ละคนต่างตัดช่องน้อยแต่พอตัว ซึ่งนอกจากไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้แล้ว ยังกลับซ้ำเติมให้ผลกระทบทวีความรุนแรงเป็นทวีคูณอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในยุคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคีที่หลากหลาย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติความร่วมมือดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบททางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทุนทางสังคมเหือดหาย และภาคประชาสังคมอ่อนแอ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การจัดการภาครัฐที่ขาดธรรมาภิบาล

มีนักวิชาการหลายท่านได้พยายามเสนอทางออกด้วยการแก้ไขที่ฐานราก ซึ่งก็คือ การพัฒนาท้องถิ่น โดยหันมาฟื้นฟูความเข้มแข็งของ “ชุมชน” ซึ่งสามารถกระทำได้โดยผ่านกิจกรรมสานเสวนา (dialogue) ในรูปแบบต่างๆ

พื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพูดคุย/แลกเปลี่ยนระหว่างกันเกี่ยวกับปัญหาร่วมที่พวกเขาประสบ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ไข และนำไปสู่การระดมทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

กิจกรรมสานเสวนาภายในท้องถิ่น ดำเนินการในรูปของวงจรที่หมุนต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ ภายในกระบวนการดังกล่าวจะส่งผลให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพูด การคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ทักษะการเป็นผู้นำ ความสามารถในการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งเกิดความเชื่อมั่นในการพัฒนาชุมชนด้วยพลังการรวมตัวของพวกเขาเอง 

นักวิชาการเรียกกระบวนการดังกล่าวนี้ว่า “การเสริมพลังชุมชน” (community empowerment) ในระยะยาวจะส่งผลให้เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” หรือชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาของพวกเขาเอง รวมทั้งสามารถพัฒนาชุมชนน่าอยู่ที่พวกเขาปรารถนาอยากจะให้เป็น

การเสริมพลังชุมชน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ทั้งในเขตชนบท (อาทิ ชุมชนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ ป่าชุมชน ฯลฯ) และในเขตเมือง (ได้แก่ ชุมชนแออัด หมู่บ้านจัดสรร ชมรม และสมาคมต่างๆ ฯลฯ) ซึ่งพบว่าในบางจังหวัดมีชุมชนเข้มแข็งนับร้อยแห่ง ชุมชนเหล่านี้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันในรูปของ “เครือข่าย” ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด

เครือข่ายชุมชน ทำหน้าที่เป็น “พื้นที่กลาง” (public space) สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานและการเคลื่อนไหวของแต่ละแห่ง รวมทั้งทำหน้าที่ในการหนุนช่วยด้านทรัพยากรต่างๆ ให้แก่ชุมชนที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ เครือข่ายชุมชนยังมีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ร่วมกันอีกด้วย

การจัดตั้งเป็นเครือข่ายชุมชน ได้ส่งผลให้ชาวบ้านมีปากมีเสียงและเกิดพลังในการขับเคลื่อน ซึ่งในบางจังหวัด (อาทิ ตราด พังงา พัทลุง นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ฯลฯ) พบว่า เครือข่ายดังกล่าวสามารถมีส่วนร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ อันนำไปสู่การวางแผนพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด

การฟื้นฟูชุมชน เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสทำกิจกรรมของส่วนรวมร่วมกัน จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการจัดตั้งองค์กร มีผู้นำ มีการวางแผน และการระดมทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ชุมชนที่เข้มแข็งจึงจำเป็นต้องมี “ธรรมนูญชุมชน” ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่สมาชิกกำหนดร่วมกันและทุกคนต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตาม เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม “ธรรมนูญชุมชน” มิได้เป็นจารีตที่เข้าไปจำกัดสิทธิ/เสรีภาพ แต่จะต้องเปิดกว้างให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเสรี ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่า ชุมชนสมัยใหม่มิได้ขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยม

ความพยายามในการสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” พร้อมๆ กับการถักร้อยเป็น “เครือข่ายชุมชน” ในระดับต่างๆ ก่อให้เกิด “พื้นที่กลาง” ขึ้นอย่างกว้างขวาง กระบวนการดังกล่าวเป็นการสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้เจริญงอกงาม พร้อมๆ กับการพัฒนาที่ตอบสนองต่อท้องถิ่น โดยท้องถิ่น และเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น