13 มีนาคม วันช้างไทย ประวัติวันช้างไทย จำนวน ประชากรช้างป่า ล่าสุด

13 มีนาคม วันช้างไทย ประวัติวันช้างไทย จำนวน ประชากรช้างป่า ล่าสุด

13 มีนาคม "วันช้างไทย" ประวัติวันช้างไทย วันสำคัญที่มุ่งให้คนตระหนักถึงความสำคัญของ "ช้าง" สัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ "วันช้างไทย" อันเป็นวันที่ระลึกถึงการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเป็นวันสำคัญที่มุ่งให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของ "ช้าง" สัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ประวัติ วันช้างไทย

ประวัติวันช้างไทย 

"ช้าง" เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่โบราณกาล ไม่ว่าจะเป็นในยามศึกสงครามดังที่ปรากฏในพงศาวดารที่กล่าวถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำยุทธหัตถีบนหลังช้าง มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา หรือในยามบ้านเมืองสงบสุข ช้างก็อยู่ร่วมกับคนไทยเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง นั่นจึงเป็นเหตุให้ครั้งหนึ่งเคยมี "ช้างเผือก" ประดับอยู่บนธงชาติไทย ก่อนที่จะเป็นธงไตรรงค์แบบในปัจจุบัน นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีตแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2541 คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ภายใต้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีความคิดริเริ่มที่จะสถาปนาวันช้างไทย เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ช้างไทยให้มากยิ่งขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ "ช้างเผือก" เป็นสัญลักษณ์ของแดนสยาม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม 2541 ประกาศให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันช้างไทย"

ปัจจุบันทั่วโลกเหลือช้างเพียง 3 ชนิด คือ

  • ช้างสะวันน่าแอฟริกัน
  • ช้างป่าแอฟริกัน
  • ช้างเอเชีย

โดย "ช้างเอเชีย" ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะใน 13 ประเทศเท่านั้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ในประเทศไทย "ประชากรช้างป่า" กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ประมาณ 4,013 - 4,422 ตัว กระจายใน 16 กลุ่มป่า 91 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ 

  • อุทยานแห่งชาติ 46 แห่ง
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง
  • เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง

13 มีนาคม วันช้างไทย ประวัติวันช้างไทย จำนวน ประชากรช้างป่า ล่าสุด

 

ความขัดแย้งระหว่าง "คนกับช้างป่า" ปัญหาที่ทวีความรุนแรง

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ถึง 71 แห่ง โดยมีพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรง ได้แก่ 

  • กลุ่มป่าตะวันตก
  • กลุ่มป่าตะวันออก
  • กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
  • กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว
  • กลุ่มป่าแก่งกระจาน

ปัญหาครอบคลุม 42 จังหวัด 128 อำเภอ 151 ตำบล ทั่วประเทศ โดยสถิติในปีงบประมาณ 2567 พบการรายงาน ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ถึง 11,468 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 34 ราย ผู้เสียชีวิต 39 ราย และสร้างความเสียหายต่อพืชผลและทรัพย์สินรวมกว่า 4,000 ครั้ง

สาเหตุหลักของปัญหานี้มาจากการที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งถูกแบ่งแยกเป็น หย่อมป่า (Habitat Fragmentation) ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น รูปแบบการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของช้าง การเข้ามาใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่อาศัย และคุณค่าทางอาหารของพืชผลทางการเกษตรที่ดึงดูดช้างให้ออกมาหากิน

คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ความหวังใหม่ในการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างครั้งที่ 1/2568 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และจัดการทั้งช้างเลี้ยงและช้างป่า รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าและลิงรบกวนประชาชน และการกำหนด (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2572 โดยรองนายกรัฐมนตรียังได้มีข้อสั่งการที่สำคัญ 6 ประการ ได้แก่ 

  1. สร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างหน่วยงาน
  2. เพิ่มประสิทธิภาพชุดป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่า
  3. พัฒนาระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าและการรับแจ้งเหตุ
  4. สร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน
  5. ยกระดับมาตรฐานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
  6. ศึกษาวิจัยการใช้เทคโนโลยีช่วยลดผลกระทบจากปัญหาช้างป่า

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่แนวกันชน และพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้าง

13 มีนาคม วันช้างไทย ประวัติวันช้างไทย จำนวน ประชากรช้างป่า ล่าสุด

ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช